สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ พระตระกูลพระนางกำแพง จ.กำแพงเพชร นั้น ตามที่ทราบกันว่ามีมากมายหลายพิมพ์ ซึ่งแต่ละพิมพ์ก็ล้วนมีเนื้อหามวลสาร ความหนึกนุ่มซึ้ง และมีพุทธคุณเท่าเทียมกันทั้งด้านเมตตามหานิยมและโชคลาภ เพราะเป็นหนึ่งในพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรที่ขุดค้นพบในยุคเดียวกับพระกำแพงซุ้มกอ นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระพิมพ์ที่มีพุทธศิลปะแสดงถึงศิลปะสุโขทัยหมวดสกุลช่างกำแพงเพชรได้อย่างชัดเจนที่สุดอีกด้วย มาดูพระนางกำแพง 3 พิมพ์ ซึ่งความแตกต่างโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสัณฐานพิมพ์ทรงครับผม พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด เริ่มด้วย “พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด” หนึ่งในพระนางกำแพง ก็จะสังเกตได้จากลักษณะของเส้นขอบบังคับพิมพ์เป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ในตัว เพียงแต่ไม่มีการตัดขอบ จึงทำให้เหลือส่วนที่เป็นปีกทั้งข้างและด้านใต้ฐานพระลักษณะคล้าย ‘เม็ดมะเคล็ด’ จึงนำมาเป็นชื่อของพิมพ์ พระนางกำแพงกลีบบัว พระนางกำแพงเม็ดมะเคล็ด มีปรากฏในแทบทุกกรุทั่วบริเวณเช่นเดียวกับพระนางกำแพงอื่นๆ และเป็นอีกหนึ่งพิมพ์ที่ราคายังไม่สูงนัก แต่พุทธคุณก็ไม่แตกต่างกันเลย เนื้อหามวลสารก็เช่นกัน เป็นเนื้อดินที่ละเอียด แข็ง และแกร่ง ปรากฏคราบกรุสีขาวนวลจับแน่นทั่วองค์ องค์พระส่วนใหญ่จะเป็นสีดำเกือบทั้งหมดสีน้ำตาลมีน้อยหายาก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่งปางมารวิชัย สถิตอยู่ในเรือนแก้วรูปสามเหลี่ยมแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งไม่เรือนแก้ว ทั้งสองแบบองค์พระสถิตบนพื้นฐานคล้ายรูปทรงของเม็ดมะเคล็ด ซึ่งโดยส่วนมากจะประณีต มีเพียงบางองค์ที่ทำเป็นปีกเหลือไว้บ้าง - ลักษณะองค์พระด้านล่างจะป้อมอูมและนูน ส่วนด้านบนจะเรียวเล็ก และส่วนใหญ่จะกดพิมพ์มาตื้นแทบทุกองค์ - พระเศียรใหญ่ คล้ายทรงเทริด แต่ด้วยการกดพิมพ์ตื้นทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน - พระเกศเรียว ช่วงปลายบานออกแบบทรงกรวย - ภายนอกซุ้มเรือนแก้ว มีเนื้อเกินเป็นปีกกว้างออก แล้วโอบล้อมกลืนไปกับด้านหลังเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสมดุล - ด้านหลังองค์พระบางองค์จะพอเห็นลายนิ้วมือ แต่มักจะเลือนรางมาก พระนางกำแพงพิมพ์ตื้น พระนางกำแพงพิมพ์ต่อมา คือ “พระนางกำแพงกลีบบัว” มีการค้นพบครั้งแรกที่กรุพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ.2392 ต่อมาปรากฏในแทบทุกกรุทั่วบริเวณเช่นเดียวกับพระนางกำแพงอื่นๆ กรุที่ได้รับความนิยมกันมากจะเป็น กรุวัดพิกุล และวัดป่ามืด เนื้อหามวลสารส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ส่วนมากเนื้อจะละเอียดหนึกนุ่ม หากผ่านการสัมผัสใช้มา ว่านดอกมะขามปรากฏกระจายอยู่ทั่วไปบนองค์พระและรารัก หรือ ราดำ ปรากฏให้พบเห็นมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่พระที่พบขึ้นจากกรุนั้นๆ สำหรับเนื้อว่าน และ เนื้อชิน ปรากฏให้พบเห็นบ้าง แต่ไม่มากนัก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง ปางมารวิชัยหรือสะดุ้งมาร อยู่บนอาสนะฐานเขียง องค์พระค่อนข้างล่ำสัน แต่ปีกด้านข้างจะเรียวเล็กกว่าคล้ายกลีบบัว จึงนำลักษณะดังกล่าวนี้มาตั้งเป็นชื่อพิมพ์ พระนางกำแพงกลีบบัว มักจะมีขนาดไม่เท่ากัน คือตั้งแต่ 1.2 x 2.2 ซม. จนถึง 1.6 x 3 ซม. และยังสามารถแยกเป็นพิมพ์ต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในส่วนเกศไม่มากนักออกเป็นอีก 4 พิมพ์ คือ พิมพ์เกศแฉก พิมพ์เกศปลี พิมพ์เกศบัวตูม และ พิมพ์เกศเปลว พระนางกำแพงพิมพ์ลึก มาที่ “พระนางกำแพงพิมพ์ตื้น” ลักษณะพิมพ์ทรงจะเป็นรูปสามเหลี่ยมเรขาคณิตเหมือนพระนางพญา และก็เป็นไปตามชื่อพิมพ์อีกเช่นกัน คือ ลักษณะการกดพิมพ์ค่อนข้างตื้น ทำให้เส้นแสงรายละเอียดต่างๆ ไม่ชัดเจนนัก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง ปางมารวิชัย สถิตอยู่บนอาสนะฐานเขียง พระพักตร์ใหญ่อ่อนช้อยและชัดเจน พุทธลักษณะเหมือนพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย - มีเส้นลางๆ จากโคนพระเกศมาจรดพระเมาลีด้านซ้าย - พระสังฆาฏิเป็น 2 เส้น ปลายแหลมคม - มีตุ่มข้างพระพาหาด้านซ้ายมือด้านใน - เส้นชายจีวรพาดข้อพระหัตถ์ด้านซ้ายเป็นเส้นเล็กๆ รางเลือน - มีเส้นพิมพ์แตกเฉียงจากพระหัตถ์ขวามายังพระชานุ การพิจารณาพระนางกำแพงทุกพิมพ์ ในเบื้องต้นให้ดูที่เอกลักษณ์ของพระกรุเมืองกำแพง คือ เป็นพระเนื้อดินผสมว่าน มีความละเอียดนุ่ม และมี “รารัก หรือ ราดำ” ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และยังเป็นจุดในการพิจารณา พระแท้ พระปลอม ได้อีกด้วยครับผม