ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ก่อตั้งมาเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ ปัจจุบันมีอายุถึง 167 ปีแล้ว แต่เรื่องราวในคราวที่แล้วได้บรรยายถึงความขัดแย้งในการสั่งย้ายหรือสั่งพักงานผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้จัดการในข้อหาจ่ายเงินผิดขั้นตอน แต่กระบวนการในการดำเนินการดังกล่าวไม่โปร่งใส และอาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ ในการนี้บรรดาศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และนักเรียนปัจจุบันจำนวนมาก ต่างออกมาคัดค้านด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ส่งตัวแทนไปพูดคุยกับสภาคริสตจักร แต่ไม่เป็นผล จึงมีการแต่งดำมาประท้วงที่หน้าโรงเรียน และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพบกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเรียกร้องความโปร่งใส และความเป็นธรรม จนถึงขณะนี้สภาคริสตจักร ซึ่งถือว่าตนเองเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารจัดการโรงเรียน โรงพยาบาลและโบสถ์ ในเครือข่ายคริสเตียนคณะเพรสไบทีเรียน ก็ยังคงนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการตอบสนองใดๆ แม้ว่าทางสำนักงานกำกับดูแลการศึกษาโรงเรียนเอกชน จะได้มีคำสั่งให้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมแล้ว แต่ขบวนการสอบข้อเท็จจริงโดยใช้คณะกรรมการที่มีส่วนได้เสียไปทำการสอบ ทำให้มองได้ว่าสภาคริสตจักรน่าจะมีพฤติกรรมอะไรบางอย่างแฝงเร้นอยู่หรือไม่ วันนี้ก็เลยต้องมานำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของสภาคริสตจักร กล่าวคือ ปัจจุบันสภาคริสตจักรที่เป็นมูลนิธิเพื่อให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีการเลือกตั้งกรรมการวาระ 4 ปี ล่าสุดพบว่ากรรมการชุดปัจจุบันที่มีบางท่านสืบทอดมาจากวาระที่แล้วนั้น มีลักษณะเป็นสภาครอบครัว คือ มีทั้งพ่อ ลูก ผัว เมีย น้องสาว ลูกสะใภ้ เป็นกรรมการ และยังส่งคนในครอบครัวเครือญาติออกไปบริหารจัดการ องค์การในเครือข่าย โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีผลประโยชน์จำนวนมาก อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่มีเงินสะสมถึง 1,000 ล้าน ในประเด็นเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครองน่าจะส่งคนเข้ามาตรวจสอบถึงความไม่โปร่งใสของมูลนิธิสภาคริสตจักร รวมทั้งฐานะทางการเงินของประธานและกรรมการว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เพราะหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สภา ส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยกรรมการสภา แต่ประเด็นเหล่านี้อาจไม่สำคัญเท่ากับสถานภาพของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของประเทศไทยที่อายุ 167 ปี แต่มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์จักรีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ดังจะขอคัดลอกข้อความบางตอนที่ได้มาจากศิษย์เก่าท่านหนึ่ง คือ คุณมนูญ พุฒทอง ดังต่อไปนี้ “บูรพกษัตริยาธิราช และราชสกุลแห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงมีคุณอันใหญ่หลวงต่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) มีพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นซื้อที่ดินในประเทศสยามไว้ 2 แห่ง และสร้างโรงเรียนแห่งแรกที่ตำบลกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี(อันเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน) เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2395... ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ทรงสนับสนุนโครงการขยายการศึกษาของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นมายังฝั่งกรุงเทพ พระองค์พระราชทานเงินจำนวน 20 ชั่ง เพื่อสมทบในการซื้อที่ดิน ตำบลสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพ เมื่อพ.ศ.2443 เพื่อสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ มีอาคารเรียน ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานนาฬิกาประดับปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” ไว้ที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้” ในรัชสมัยของพระองค์อาจนับได้ว่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนอินเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยก็ได้ เพราะเน้นสอนภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และนักเรียนต้องพูดภาษาอังกฤษขณะอยู่ในโรงเรียน ช่วงเวลานั้นเองบรรดาลูกท่านหลานเธอ เชื้อพระวงศ์และบรรดาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายต่างส่งบุตรหลานมาเรียนเป็นจำนวนมาก “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) มีพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมีวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2463 นับเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกที่ได้รับเกียรตินี้...” นอกจากนี้แตรวง(วงดุริยาง) ของโรงเรียนยังมีส่วนร่วมในการบรรเลงนำขบวนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ.2469 อีกด้วย “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7) ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยพระราชทานโต๊ะทรงพระอักษรประดับตราพระลัญจกร “วชิราวุธ” ซึ่งเป็นโต๊ะทรงพระอักษรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” “ราชสกุล “มหิดล” นับว่ามีความใกล้ชิดกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงสงขลานครินทร์ พระองค์เสด็จมาทรงเยี่ยมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นประจำ---และได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (เอกสารเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ) “ทุกครั้งที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จเยี่ยมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี จะโดยเสด็จด้วยทุกครั้ง” นอกจากนี้ยังเสด็จเป็นการส่วนพระองค์อีกหลายครั้ง เพื่อร่วมในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้นยังทรงบริจาคเงิน 3,000 บาท เพื่อปรับปรุงสนามฟุตบอลของโรงเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรับสั่งขอให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอย่าหยุดยั้งในการพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนแห่งชาติ ต่อมาคณะผู้บริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยอาจารย์อารีย์ เสมประสาท ได้นำคณะครูและนักเรียนเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ณ วังสระปทุมเพื่อถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 จึงได้ทรงโปรดให้ถ่ายภาพร่วมกับพระองค์ด้วย นอกจากนี้ที่สำคัญยิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำริว่า “ควรจะจัดโรงเรียนในลักษณะเดียวกันกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในชนบทเพื่อขยายการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค อนึ่งในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา ได้พระราชทานนามให้อาคารศูนย์วิทยบริการสูง 16 ชั้น ว่า “อาคารสิรินาถ” อันถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้จึงควรจะได้มีการดำเนินการให้โรงรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้เป็นสมบัติของแผ่นดิน แทนการอยู่ภายใต้ร่มเงาของสภาคริสตจักร ซึ่งมีอายุเพียง 60 ปี อันจะเป็นการสนองต่อพระมหากรุณาธิคุณที่ราชวงศ์จักรีทรงมีต่อสถาบันแหล่งนี้ และจะได้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์