วงการโทรคมนาคมแบ่งรับ แบ่งสู้หากประเทศไทยจะดันเปิด 5 จีก่อนใคร เตือน กสทช.อย่าผลีผลาม ชี้ลำพังแค่ลงทุนระบบ 4 จีค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายก็แทบหมดหน้าตัก ขณะปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยยังทะลักคอหอย หวั่นลงทุนแสนล้านถูกธุรกิจข้ามชาติที่ให้บริการ OTT ชุบมือเปิบ จี้ล้อมคอกก่อนผลประโยชน์ประเทศถูกดูดออกไปหมด แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมเผยว่า หลังจาก เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาเปิดไทม์ไลน์ การประมูลคลื่น 5 จีอีกครั้ง โดยจะมีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุมร่วมระหว่างสำนักงาน กสทช. และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) หรือ ไอทียู-เอ็นบีทีซี เอเชีย แปซิฟิก เร็กกูเลเตอร์ ราวเทเบิล(อาร์อาร์) แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรนนิ่ง โปรแกรม (ไอทีพี) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.62 โดยจะมีการจัดประชุมเวิลด์เรดิโอ คอมมูนิเคชั่น คอนเฟอเรนซ์ (WRC) เพื่อสรุปมาตรฐานคลื่นความถี่ที่ใช้ในการรับรอง 5จีอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้ก่อนที่ กสทช.จะนำร่งหลักเกณฑ์การประมูล 5 จีออกรับฟังความคิดเห็นสวาธารณะในช่วงปลายปี 2562 และคาดว่าจะประมูลคลื่นความถี่ได้ในปี 2563 และประเทศไทยจะสามารถเปิดให้บริการ 5จีได้อย่างเร็วในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ทั้งนี้ล่าสุดเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ออกมาเปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2562 พบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1/2562 หนี้ครัวเรือนประเทศไทยเท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ปี 2560 และถือได้ว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับ 11 ของโลกจาก 74 ประเทศ สำหรับข้อมูลที่ สศช.สะท้อนออกมาข้างต้น น่าจะสะท้อนให้รัฐบาล และ กสทช.ต้องคิดให้หนัก ความมุ่งมั่นในการผลักดัน 5 จีออกมาให้ได้ภายในปี 2563-64 นั้น อานิสงจะส่งผลให้ประชาชนคนไทยลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ จะทำให้ประชาชนคนไทยหันมาใช้ระบบ 5 จีจนผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวขึ้นมาเช่นในอดีตหรือไม่ ลำพังหนี้ครัวเรือนที่ต้องแบกรับเท่าที่ สศช.รายงานออกมาล่าสุดก็แทบแย่กันอยู่แล้ว” ขณะที่ กสทช.ออกมายอมรับว่า การประมูลใบอนุญาต 5 จีในอนาคตจำเป็นต้องประมูลแบบ มัลติแบนด์ หลายคลื่นพร้อมกันคือ ประกอบไปด้วยคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์,คลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 300-400 กิกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ และยังต้องพิจารณาเว้นการชำระค่าใบอนุญาตใน 2-3 ปีหลังการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์นำเงินลงทุนจำนวนมหาศาลไปลงทุนด้านโครงข่ายเพื่อรับรอง 5จีที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศก่อนเพื่อจูงใจและสร้างความมั่นใจให้กับโอเปอเรเตอร์ให้เข้าร่วมการประมูลอีกครั้ง “สิ่งที่ กสทช.ต้องตอบคำถามรัฐและสังคมคือ การผลักดัน 5 จีที่ต้องลงทุนกันอีกเป็นแสนล้านจะทำให้ประชาชนคนไทยได้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมอย่างไร จะสามารถลดหนี้ครัวเรือนลงไปได้สักกี่มากน้อย และประเทศและประชาชนคนไทยได้ประโยชน์จริงหรือ” โดยเท่าที่เห็นในเวลานี้บรรดาผู้ให้บริการบนโครงข่าย OTT: Over the Top อย่าง FB ,FB Life,YouTube, Line,Netflix หรือ Googleรัฐบาลและ กสทช.ยังควานหามาตรการในอันที่จะล้อมคอกผู้ให้บริการ OTT ข้ามชาติเหล่านี้เข้ามุมเพื่อจัดเก็บรายได้หรือค่าธรรมเนียมกันอยู่เลย เพราะหากยังคงไม่สามารถให้ OTT เข้ามาอยู่ในกรอบยังอยู่บนโลกเสรีอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลได้เช่นนี้ สิ่งที่ประเทศต้องลงทุนไปนับแสนหรือหลายแสนล้านบาทจะทำให้ OTT ยักษ์ข้ามชาติเหล่านี้ตักตวงผลประโยชน์ไปโดยปริยาย