สร.กฟผ.นัดแต่งดำ 6 ก.ย.62พร้อมเดินทางยื่นหนังสือต่อ รมว.พลังงาน ค้านล้มประมูล LNG กระทบความน่าเชื่อถือองค์กร ด้านผู้บริหารเผยรอมติ ครม.ชัดเจนก่อนประกาศยกเลิกประมูล นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า ตัวแทนสร.กฟผ.จำนวนหนึ่ง จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 6 ก.ย.62 พร้อมทั้งจะทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อคัดค้านมติ กบง.เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งให้ยกเลิกการประมูลจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบการจัดทำสัญญา ของกฟผ. และให้ทดลองจัดซื้อ LNG ในตลาดจร (Spot) จำนวน 1-2 ล็อตเพื่อทดลองระบบการแข่งขันนั้น จะทำให้กฟผ.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ และนโยบายรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะผู้ที่ชนะประมูลจัดหา LNG ให้กับ กฟผ.ครั้งนี้ คือปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย ดังนั้นจึงจะขอให้รมว.พลังงานทบทวนมติ กบง.ดังกล่าว ทั้งนี้เห็นว่าการที่กบง.มีมติล้มประมูล LNG คงเนื่องจากการรับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน ฟังความจากกลุ่มทุนพลังงานด้านเดียว โดยเฉพาะที่ระบุว่าราคาสัญญาระยะกลางที่เปิดประมูล 8 ปีของ กฟผ.มีราคาสูง 7.5 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จึงให้นำเข้าด้วยราคา spot ที่ปัจจุบันมีราคา 3-4 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูนั้น ในโลกการค้าพลังงานก็ทราบกันดีราคา spot เป็นราคาชั่วคราวซึ่งไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีราคาถูกเช่นนี้ตลอด ขณะที่ข้อมูลด้านพลังงานก็ระบุชัดว่า5 ปีข้างหน้าตลาด LNG จะเป็นของผู้ขายซึ่งทำให้ราคา LNG อาจจะสูงกว่านี้ ที่สำคัญการประมูลรอบนี้ กฟผ.ทำได้ต่ำกว่าสัญญาที่ บมจ.ปตท.(PTT) นำเข้าตามสัญญาระยะยาวทุกสัญญา และยังถูกกว่าราคาที่ปตท.เสนอในการเข้าร่วมจัดหา LNG ของ กฟผ.ในครั้งนี้ที่ 7.7 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู “การที่ให้ กฟผ.นำเข้า LNG จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะถูกลงในอนาคต ส่วนเรื่องความกังวลต่อภาระ Take-or-Pay ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น น่าจะมาจากราคาก๊าซฯที่ปตท.ตกลงไว้มีราคาสูง แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน (กกพ.) ก็ร่วมหารือจนสามารถบริหารจัดการได้” ทั้งนี้อยากขอให้ รมว.พลังงานทบทวน หรืออยากให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกจริง ๆ ก็ใช้การนำเข้า LNG แบบ spot ทั้งหมดจะดีกว่าไหม เพราะราคาจะอยู่ราว 6 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 200 บาทต่อล้านบีทียู ถูกกว่าราคาที่ปตท.ขายที่ 250 บาทต่อล้านบีทียู อนึ่งการประชุมกบง.เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้กฟผ. จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขันเพียง 1-2 ล็อต แทนการนำเข้าตามสัญญา เนื่องจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม และเตรียมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมกพช.ในวันที่ 12 ก.ย.นี้เพื่อแก้ไขมติกพช.เดิมที่อนุมัติให้กฟผ.นำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ขณะที่ กฟผ.ได้เปิดประมูลจัดหาผู้นำเข้า LNG แล้วเสร็จจากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ มีเพียงปตท.ที่เป็นผู้ประกอบในไทยเพียงรายเดียวที่ยื่นเสนอราคาเข้ามา โดยผลการคัดเลือกปรากฎว่า ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย เป็นผู้ชนะประมูลในปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี ตามสัญญา 8 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้ โดยล่าสุด สร.กฟผ.ออกประกาศเชิญชวน ชาวกฟผ.ทั่วประเทศพร้อมใจกันแต่งชุดดำในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) เพื่อค้ดค้านการล้มประมูล LNG ของกฟผ. ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.คงต้องรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากกบง.จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ กพช.และ ครม. เพราะการประมูลเป็นการดำเนินตามมติ กพช. เมื่อปี 60 ซึ่ง กฟผ.ได้จัดจ้างที่ปรึกษาและจัดการประมูล โดยดูข้อมูลรอบด้านรวมถึงทิศทางตลาด LNG ในอนาคตที่อีก 5 ปีความต้องการจะสูงขึ้น โดยสภาพตลาดจะเปลี่ยนจากปัจจุบันที่ตลาดเป็นของผู้ซื้อกลายเป็นตลาดของผู้ขาย ทั้งนี้ยืนยันว่าการนำเข้า LNG ของ กฟผ.จะไม่เกิดปัญหา Take-or-Pay เนื่องจากกฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนบริหารจัดการ โดยสัญญาซื้อขายมีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี อีกทั้งกฟผ.ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขาย LNG ส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทนได้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักระหว่าง ปตท.กับ กฟผ.เพราะเป็นคนละเรื่องกัน การเจรจากับ ปตท.ก็ยังคงมีต่อเนื่องและในฐานะที่ กฟผ.ดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องการให้ต้นทุนก๊าซฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับ ปตท.ในรูปแบบปีต่อปี จึงยังเป็นเรื่องที่เหมาะสม