ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ภายในกรอบวงเงิน 15,800,000,000 บาท โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดละ 200 ล้านบาท ยกเว้นจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนและมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยให้แต่ละจังหวัดเสนอแผนงาน/โครงการให้กับกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ทั้ง 18 เขต เพื่อพิจารณา ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก จะได้ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดเตรียมมาตรการและโครงการต่างๆ ให้มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว อาทิ โครงการสร้างอาชีพการจ้างแรงงาน การซ่อมแซมปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดเจาะเป่าล้างบ่อบาดาล ระบบส่งน้ำและระบบประปา โดยห้าม นำงบประมาณดังกล่าวไปซื้อครุภัณฑ์ จัดสัมมนา จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงค่าล่วงเวลา หรือใช้จ่ายอื่นใด นอกเหนือจากที่ระบุไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจ.ตราด เปิดเผยถึงความคืบหน้าถึงโครงการของจ.ตราดเสนอไปยังรัฐบาลในส่วนส่วนของจังหวัดตราด ในเบื้องต้นมีโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนตามนโยบายดังกล่าวน่าจะมีความเหมาะสม และทำโครงการได้ทันรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน / ปรับปรุงท่อผันน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ระยะที่ 1 งบประมาณ 100,000,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยโครงการชลประทานตราด พื้นที่ได้ประโยชน์ ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด เนื้อที่ประมาณ 17,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 300 ครัวเรือน 2.) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประชลประทาน/ระบบส่งน้ำคันนาสูงสาย 1 L-MP (อ่างเก็บน้ำวังสมโภชน์) ดำเนินการโดยโครงการชลประทานตราด งบประมาณ 65,000,000 ล้านบาท พื้นที่ได้ประโยชน์ตำบลเทพนิมิต ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง เนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 150 ครัวเรือน 3.) โครงการซ่อมแซมเพิ่มประสิทธิภาพท่อผันน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองห้วยแร้ง ดำเนินการโดยโครงการชลประทานตราด งบประมาณ 15,000,000 บาท พื้นที่ได้ประโยชน์ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราดเนื้อที่ประมาณ 17,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 300 ครัวเรือน 4.) โครงการงานปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองท่าเลื่อนและอาคารประกอบ ดำเนินการโดยโครงการชลประทานตราด งบประมาณ 15,000,000 บาท พื้นที่ได้ประโยชน์ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 250 ครัวเรือน 5.) โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ดำเนินการโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด งบประมาณ 4,865,580บาท โดยจะดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 18 บ่อ พื้นที่ได้ประโยชน์ อำเภอเมืองตราดและอำเภอแหลมงอบ เนื้อที่ประมาณ 3,780 ไร่ ประชาชน/เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 210 ครัวเรือน รวม 5 โครงการงบประมาณ 199,865,580 บาท ทั้งนี้หากทั้ง 5 โครงการหากดำเนินการได้จะเกิดผลดีในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพให้กับประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำ