ระทึก!! ดินทรุดคอสะพานสาย 3 หน้าเขื่อนเพชร หักลึกกว่า 3 ม. ยังแก้ไขไม่ได้ต้องใช้ทางเบื่ยง คาดการก่อสร้างขายคลอง รถบรรทุกหนัก และสภาพสะพานเก่ากว่า 40 ปีที่ไม่มีการตอกเสาเข็ม เป็นสาเหตุ เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 กันยายน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี พร้อมนายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอท่ายาง นางนฤมล กิจพ่วงสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ สะพานข้ามคลองชลประทานสาย 3 บริเวณหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักชลประทานที่ 14 ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่เกิดทรุดตัวรถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณ เวลา 01.45 น. วันที่ 5 กันยายน สะพานดังกล่าวเป็นสะพานข้ามคลองสาย 3 ซึ่งต่อเชื่อมกับถนนเลียบคลองชลประทานสาย 2 เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวในการเดินทางขึ้นแก่งกระจานและมีประชาชนจำนวนมากใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลา ลักษณะสะพานเป็นถนนลาดยางมีไหล่ทางและราวกั้น มีทางเดินรถแบบสวนทาง ความกว้างรวมประมาณ 12 เมตร ซึ่ง บริเวณด้านล่างของสะพานกำลังมีการก่อสร้างขยายคลองส่งน้ำสาย 3 โดยขยายพื้นที่จากความกว้างคลองเดิมประมาณ 15 เมตร เป็นประมาณ 28 เมตร ตรวจสอบพบบริเวณคอสะพานได้ทรุดตัว ตัวสะพานหักแยกจากพื้นผิวถนนปกติ ตกลงลึกประมาณ 3เมตร ผิวสะพานมีรอยแยกแตกหลายจุด ตรวจสอบใต้สะพานพบบริเวณตอม่อ ตรงช่วงด้านข้างสะพานที่เชื่อมกับผิวถนนเกิดการเขยื้อนตัว ท่อประปาแตกหักไม่สามารถส่งน้ำไปยังหมู่บ้านและชุมชนได้ นางมาเรียม ปามวิว อายุ 54 อาชีพขายข้าวแกง อยู่บ้านเลขที่171 ต.ท่าคอย อำเภอท่ายาง ซึ่งตั้งร้านค้าและพักอาศัยอยู่ใกล่ทีเกิดเหตุเล่าว่า ช่วงกลางดึกได้ยินเสียงดังสนั่นมาจากสะพาน ครั้งแรกคิดว่ารถตกสะพาน แต่เมื่อออกมาดูพบว่าสะพานได้พังถลิ่มลงไป จึงแจ้ง ตำรวจพื้นที่และเจ้าหน้าที่โครงการฯ นำแผงกั้นมาวางปิดถนนไม่ให้รถเข้าออก เพราะเกรงจะเกิดอันตราย ด้าน นายสันต์ เปิดเผยว่าปัจจุบันชลประทานเพชรบุรี จุดบริเวณสะพานที่พังถล่ม เป็นจุดเริ่มต้นที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ขยายคลองสาย 3 ตามโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ตรวจสอบเบื้องต้นพบสะพานดังกล่าวสร้างขึ้นมานานกว่า 40 ปี และไม่มีการตอกเสาเข็มรับน้ำหนักไว้ ประกอบกับพื้นที่บริเวณใต้สะพานมีการขุดดินก้นคลอง และตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างผนังกั้นน้ำ คาดว่าแรงสั่นสะเทือนของการตอกเสาเข็ม และมีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านสะพานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้บริเวณจุดต่อเชื่อมสะพานกับพื้นถนนแตกร้าว ทำให้สะพานไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ไหวจึงส่งผลให้ช่วงต่อเชื่อมสะพานเกิดการยุบตัว ด้านนายณัฐวุฒิ เปิดเผยว่าได้ ได้ประสานกับ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.)13 กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำสะพานแบริเออร์หรือสะพานเหล็กแขวนเพื่อสัญจรชั่วคราวมาวาง แต่ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีจุดบริเวณรับน้ำหนักที่แน่นอน หากมีการติดตั้งเกรงว่าอาจเกิดการทรุดตัว และทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ จึงจำเป็นต้องปิดสะพานไม่ให้มีการสัญจร และประสานให้ทางกรมชลประทาน อ.ท่ายาง เทศบาลท่ายาง ประกาศให้ประชาชนใช้ทางเบี่ยงโดยรถยนต์ขนาดใหญ่สามารถใช้ทางเบี่ยงไปทาง ที่สะพานบ้านทุ่งแฝก ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตรส่วนรถจักรยานยนต์และประชาชนที่สัญจรเดินเท้าสามารถใช้เส้นทางผ่านอาคารประตูระบายน้ำของเขื่อนเพชรซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 100 เมตรเพื่อสัญจรไปมา และจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหางบประมาณในการก่อสร้างสะพานแบบถาวร อย่างเร่งด่วน