ึคอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” ทฤษฎีการแพร่กระจายของนวัตกรรม (Diffusion of Innovation) ของ Everette Roger (1995) กล่าวไว้ว่า สิ่งประดิษฐ์ (Invention) นั้นยังไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรม (Innovation) อย่างแท้จริง ถ้าหากสิ่งประดิษฐ์นั้นยังไม่สามารถนำไปพัฒนาหรือใช้ได้จริง การเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่กระจายของสิ่งใหม่ๆ จากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง และสังคมนั้นยอมรับสิ่งนั้นเข้าไปใช้ ซึ่งสิ่งใหม่ๆ นี้ คือ “นวัตกรรม” จากแนวคิดของทฤษฎีดังกล่าวได้จุดประกายให้ นายสุภชาญ ตรัยตรึงศ์สกุล ผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อประโยชน์สำหรับผู้พิการให้ใช้ได้จริง โดยได้ร่วมกับ นายเจน ชัยเดช นางสาวเอมอัชฌา สิลมัฐ และ นางสาวสุปราณี ศรีสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยคิดค้นอุปกรณ์พิมพ์แบบนูน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระดาษกราฟนูน เพื่อนำไปสอนให้นักเรียนตาบอดพล็อตกราฟ ภายใต้โครงการวิจัยที่ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรแล้ว ชื่อว่า “การพัฒนาอุปกรณ์พิมพ์แบบนูน แสดงระบบพิกัดคาร์ทีเซียนบนกระดาษ สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น” โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 นายสุภชาญกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วนักเรียนพิการทางการเห็นสามารถเรียนรู้ได้จากการฟัง การสัมผัส และการอ่านโดยใช้อักษรนูน หรือ “เบรลล์” แน่นอนว่า สื่อคณิตศาสตร์เกี่ยวกับกราฟ จะต้องเป็นสื่อแบบนูนให้นักเรียนได้สัมผัส และรู้จัก “ระบบพิกัดคาร์ทีเซียน” หรือ “ระบบแกน XY” เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราพบโดยปกติ คือ กระดาษกราฟมีลักษณะแบนเรียบสำหรับนักเรียนสายตาดี เพื่อใช้ทำการพล็อตได้เลย ในขณะที่นักเรียนพิการทางการเห็นต้องใช้กระดาษกราฟแบบนูน (กระดาษMaster 150 แกรม ราคาแผ่นละ 3 บาท) ซึ่งผลิตจากเครื่องพิมพ์นูน หรือ Braille Embossor ที่มีราคาแพง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้โรงเรียนบางแห่งมีกระดาษนูนไม่เพียงพอสำหรับนักเรียนพิการทางการเห็น ทีมวิจัยจึงได้สร้างอุปกรณ์พิมพ์แบบนูน โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในประเทศไทย ทำจากไม้และลูกกลิ้งผ้า ช่วยลดปัญหาดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนพิการทางการเห็นสามารถผลิตกระดาษกราฟนูนได้ด้วยตนเองจากกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ นอกจากจะช่วยลดภาระงานของครูและเจ้าหน้าที่ผลิตสื่อ และลดนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ด้าน นายเจน ชัยเดช ผู้บกพร่องทางการเห็นที่มีส่วนร่วมในผลงานการประดิษฐ์ ซึ่งเคยเป็นอดีตครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา กล่าวเสริมว่า การเรียนคณิตศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องกราฟของ “เด็กตาดี” ต่างจาก “เด็กตาบอด” คือ “เด็กตาดี” สามารถใช้สายตาในการตรวจดูทีเดียว ก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมดจนรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ในขณะที่การรับรู้ของ “เด็กตาบอด” จะเป็นแบบทีละส่วน ต้องใช้ปลายนิ้วสัมผัสทีละส่วนแล้วประมวลออกมาเป็นภาพรวม
ซึ่งอุปกรณ์พิมพ์แบบนูนที่ทีมวิจัยคิดขึ้นนี้จะช่วยให้ “เด็กตาบอด” สามารถพล็อตกราฟได้จากการสัมผัสของนิ้วชี้ทั้งสองข้าง โดยให้นิ้วชี้ข้างหนึ่งวางเป็นแนวกราฟ และใช้นิ้วชี้อีกข้างหนึ่งเลื่อนไปมาโดยนับตามรอยนูนของกระดาษ แล้วใช้เข็มหมุดปักไว้ในจุดที่ต้องการจะพล็อต
โดยได้สุ่มทดลองใช้ในโรงเรียนสอนคนตาบอดใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และเพชรบุรี พบว่าได้ผลดีถึงร้อยละ 80 และจะได้มีการปรับปรุงและเผยแพร่สู่โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศไทยต่อไป ซึ่งจากประสบการณ์มองว่า เด็กตาบอดสามารถเรียนทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป ถ้ามีการปรับหรือดัดแปลงสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับการรับรู้ของพวกเขา ผลงานการประดิษฐ์อุปกรณ์พิมพ์กระดาษกราฟนูนสอนนักเรียนตาบอดพล็อตกราฟ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดแสดงในงาน "Mahidol R-I-SE NOW" Research & Innovation Special Exhibition ซึ่งสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับ กองบริหารงานวิจัย และกองกิจการนักศึกษา จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม และ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ https://adevelopingembosserfortheblind.wordpress.com ฐิติรัตน์ เดชพรหม