ลงพื้นที่ขอนแก่น เฉพาะที่อ.บ้านไผ่ มีผู้ประสบภัยพิบัติไม่น้อยกว่า 2 พันหลัง ขณะมีผู้มารับบริการคัดกรองสุขภาพจิตเกือบหลักร้อย ทั้งมีผู้ได้รับผลกระทบทางใจจากน้ำท่วม ประสานทีมรพ.พื้นที่ดูแลต่อเนื่อง พร้อมแนะใช้หลัก 3 ส ดูแลสุขภาพใจซึ่งกันและกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตห่วงใยประชาชนสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ อาจเกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีปัญหาสุขภาพจิตได้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยพายุโพดุล ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทที่ลงพื้น อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบมีศูนย์พักพิงทั้งหมด 7 แห่ง ไม่นับรวมเต็นท์พักพิงชั่วคราวที่จัดตั้งริมถนน ประมาณการผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2,000 ครัวเรือน แม้น้ำลดแล้ว แต่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ได้จัดบริการที่ศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อ.บ้านไผ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ล้อมรอบด้วยศาลาประชาคม โรงเรียน และวัด ซึ่งจัดให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว และจัดบริการดูแลสุขภาพจิตเชิงรุก ลงพื้นที่เยี่ยมคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บ้านหนองน้ำใส ต.หนองน้ำใส บ้านกุดเปล่ง ต.บ้านไผ่ และบ้านดอนชาติ ต.หนองน้ำใส อ.บ้านไผ่ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มีผู้มารับบริการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ทั้งหมด80 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ต้องติดตามต่อเนื่อง ร้อยละ 8.75 และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์น้ำท่วม ร้อยละ 1.25 ซึ่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้วางแผนประสานการทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตรพ.บ้านไผ่ ดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนช่วยดูแลสภาพจิตใจกันและกันของคนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนบ้าน โดยใช้หลัก 3 ส. ในการปฐมพยาบาลทางใจ คือ 1. สอดส่องมองหา ขอให้ช่วยสังเกต มองหาผู้ประสบภัย ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่โศกเศร้าเสียใจ เครียด วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ 2.ใส่ใจรับฟัง ให้เข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ พร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยได้พูดระบายคลายความทุกข์ในใจออกมา 3. ส่งต่อ หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ซึมเศร้าอย่างรุนแรง ให้ติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง