เตรียมพบกับโขน "สืบมรรคา" ฉากไฮไลท์แม่น้ำใหญ่ แฟนตาซี สนุกสนานผสมผสานเทคนิค ภาพสามมิติ ที่พลาดไม่ได้ฉากตลกโขน สร้างสีสันในการแสดง เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 62) มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” ระหว่างวันที่ 6 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2562 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โขนไม่ได้เป็นที่นิยมในสังคมไทยมากนัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลอนุรักษ์ศิลปะประจำชาติ ไม่ให้สูญหาย และเกือบทุกครั้งพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดง จนเมื่อช่วงหลังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงมาเรื่อยๆ แต่ละปีจะมีการคัดเลือกนักแสดง การจัดทำฉาก เครื่องแต่งกาย และเครื่องประกอบฉาก ตลอดจนหัวโขนใหม่ ดังนั้นการแสดงโขนจึงไม่ได้เป็นเพียงสร้างความบันเทิงเท่านั้น แต่เห็นถึงฝีมือช่างทุกสาขา และทำให้คนไทยรู้สึกว่าหวงแหนการแสดงโขนที่เป็นสมบัติของประเทศ ดร. สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบท และกำกับการแสดง โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า ตอน สืบมรรคา จะได้เห็นวีรกรรมของหนุมานหลากหลายรูปแบบ มีฉากไฮไลท์เป็นฉากแม่น้ำใหญ่ การดำเนินเรื่องมีความแฟนตาซี สนุกสนาน ใช้เทคโนโลยี เทคนิค ภาพสามมิติ สลิง และที่พลาดไม่ได้คือมีฉากตลกโขน สร้างสีสันในการแสดงด้วย นายประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวว่า โขนแต่ละตอนมีความพิเศษแตกต่างกันไป และครั้งนี้มีตัวละครไม่เคยปรากฏใดๆ มาก่อน คือ นางอังกาศตไล เป็นยักษ์ผู้หญิง กริยาห้าวหาญที่มารบกับหนุมาน ขณะที่ทศกัณฐ์จะดูเป็นยักษ์ที่มีความเจ้าชู้ ใส่หัวโขนสีทองศิลปะชิ้นเยี่ยม เช่นเดียวกัลบกระบวนท่าต่างๆ ที่สืบทอดมาจากกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ 6 นายสุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดฉากและเครื่องประกอบฉากให้งดงามอย่างสุดความสามารถ นำศิลปะชั้นครู ฝีมือช่างมากลั่นกรองจนตกผลึก ใช้ทั้งด้านศิลปกรรม ประติมากรรม ธรรมชาติแวดล้อม นำความรู้ทางวัฒนธรรมของราชสำนักมาประกอบการทำงาน ผู้ชมไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด