ต้องถือเป็นช่วงฤดูกาลมรสุม ที่บรรดาสารพัดพายุ ระดมกระหน่ำในหลายพื้นที่โลกกันโดยแท้ ทั้งทางซีกโลกตะวันออก ได้แก่ จีน เวียดนาม ลาว และรวมถึงประเทศไทยเราเองด้วย ที่เผชิญกับพายุโซนร้อน “โพดุล” ก่อนตามมาติดๆ ด้วย พายุโซนร้อน “คาจิกิ” และพายุดีเปรสชัน “เหล่งเหลง” จนกำลังเป็นความพิบัติหายนะภัยทางธรรมชาติที่กำลังเล่นงานบรรดาประเทศข้างต้นอยู่ ณ เวลานี้ หลังเริ่มก่อตัวเป็นพายุขึ้นที่ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินเป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ช่วยกันจัดการกับกิ่งไม้ที่หักลงมาทับรถยนต์คันหนึ่งในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ในปฏิบัติการกู้ภัยหลังเกิดเหตุพายุโซนร้อน “โพดุล” พัดถล่ม เอาเฉพาะของไทย ก็ได้รับผลกระทบไปแล้วถึง 59 จังหวัดด้วยกัน รวมทั้งพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวง ก็พลอยฟ้า พลอยฝน ชุ่มฉ่ำไปหยาดพระพิรุณที่กระหน่ำลงมาด้วย เช่นเดียวกับซีกโลกตะวันตก ก็กำลังผจญชะตากรรมจากมหาวาตภัยเช่นกัน ซึ่งที่กำลังอาละวาดในเวลานี้ ก็คือ พายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” ซึ่งก่อตัวจากมหาสมุทรแอตแลนติก เข้าสู่พื้นที่ในย่านบรรดาหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน เช่น หมู่เกาะบาฮามาส ก่อนรุกกระหน่ำเข้าสู่พื้นที่รัฐชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐฟลอริดา เป็นอาทิ พายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” พัดถล่มเกาะแอบาโก ของหมู่เกาะบาฮามาส โดยปรากฏการณ์ของพายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” ได้รับการจับตาจากบรรดานักอุตุนิยมวิทยาเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นพายุระดับเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ อย่างที่ไม่เคยเห็นความรุนแรงขนาดนี้กันมาก่อน นั่นคือ นอกจากเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 แล้ว ก็ยังมีความเร็วลมสูงถึง 360 กิโลเมตร หรือ 225 ไมล์ ต่อชั่วโมง ซึ่งถือเป็นความเร็วลมสูงที่สุด เท่าที่มีการบันทึกสถิติในความเร็วลมของพายุเฮอร์ริเคนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ร่วมสมัยกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ตัวเลขที่ว่า ก็เป็นความเร็วลมของพายุเฮอร์ริเคนที่พัดกระหน่ำเข้าสู่ชายฝั่งของหมู่เกาะบาฮามาส เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป นอกจากเป็นที่จับตาของเหล่านักอุตุนิยมวิทยาแล้ว บรรดานักนิเวศวิทยาก็จับจ้องมองกับปรากฏการณ์ของ “โดเรียน” พายุเฮอร์ริเคนลูกนี้เช่นกัน โดยจับตาจ้องมองด้วยความเป็นห่วงถึงความเร็วลมที่พัดกระหน่ำรุนแรงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสมมติฐานว่า เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ คือเหตุปัจจัยทำให้เป็นไป พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า นับวันพายุที่เกิดบนโลก จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยจากภาวะโลกร้อนดังกล่าว ผลกระทบของเฮอร์ริเคนลูกดังกล่าว สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกาะแอบาโก หนึ่งในเกาะแก่งของหมู่เกาะบาฮามาส ที่รับพายุแทบจะก่อนใครๆ ปรากฏว่า บ้านเรือนได้รับความเสียหายหนัก โดยผลพวงของพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นในระดับความรุนแรงเช่นนี้ ก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์อื่นอันน่าสุดสะพรึงตามมา นั่นคือ ปรากฏการณ์ “คลื่นพายุซัดฝั่ง” ปรากฏการณ์ “คลื่นซัดฝั่ง” จากผลพวงการเกิดพายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” ที่บริเวณชายฝั่งแห่งหนึ่งของหมู่เกาะบาฮามาส ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า คลื่นทะเลขนาด 23 ฟุต หรือ 7 เมตร พัดถล่มถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งของเกาะแอบาโก สร้างควาามสุดสะพรึงให้ประชาชนชาวบาฮามาส ที่พำนักอาศัยบริเวณชายฝั่ง เพราะคลื่นทะเลที่ซัดสาดด้วยความสูงขนาด อาจคร่าชีวิตของผู้คน ที่ถูกคลื่นถาโถมเข้าใส่ได้ง่ายๆ ขณะที่ สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ริมทะเลแทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะพังทลายไปต่อหน้า ต่อตา ของผู้คนที่พบเห็น ส่วนหนึ่งของสภาพความเสียหายบนหมู่เกาะบาฮามาส หลังถูกพายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” พัดถล่ม นอกจากปรากฏการณ์ “คลื่นซัดฝั่ง” ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างสุดสยองใจแล้ว เฮอร์ริเคน “โดเรียน” ก็ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลันจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างท่วมท้นข้างต้นตามมา โดยมีรายงานว่า เกาะแอบาโก ที่จะกลายเป็เมืองบาดาลในอีกไม่กี่อึดใจต่อมา ส่วน “เกาะแกรนด์บาฮามา” ซึ่งเป็นเกาะทางตะวันตกของหมู่เกาะบาฮามาส และอยู่ใกล้กับรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ แบบอยู่ฝั่งตรงข้ามกันเลยทีเดียว ก็ปรากฏว่า เกิดภาวะฝนตกหนัก จนชุ่มฉ่ำกันไปทั้งเกาะ พร้อมๆ กับกระแสลมพัดอย่างกระโชกแรง ภายหลังจากพัดกระหน่ำหมู่เกาะบาฮามาส และทิ้งร่องรอยความเสียหายไปอย่างสุดสยองใจแล้ว เฮอร์ริเคน “โดเรียน” ถาโถมพุ่งทะยานไป โดยมุ่งหน้าสู่ทิศทางตะวันตก นั่นคือ บริเวณชายฝั่งของบรรดารัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ได้แก่ รัฐฟลอริดา รัฐจอร์เจีย รัฐนอร์ทแคโรไลนา และรัฐเซาท์แคโรไลนา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประชุมฉุกเฉินที่ “สำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง” หรือ “ฟีมา” เพื่อเตรียมการรับมือพายุเฮอร์ริเคน “โดเรียน” ส่งผลให้ทางการวอชิงตัน รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ที่ “สำนักงานจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “ฟีมา (FEMA : Federal Emergency Management Agency) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศ เพื่อประเมินและตระเตรียมการรับมือสถานการณ์มหาวาตภัย “โดเรียน” เฮอร์ริเคน ที่จะขึ้นฝั่งของสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่อึดใจต่อมา ทั้งนี้ มีรายงานอย่างติดตลกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ เรียกผิดเรียกถูกเกี่ยวกับชื่อหมู่เกาะบาฮามาสที่ถูกพายุเฮอร์ริเคน “โดเรีย” พัดกระหน่ำว่าเป็น “แอละแบมา” ซึ่งเป็นรัฐๆ หนึ่งทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ชาวเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ พากันซื้อหาสินค้ากักตุนไว้จนแทบจะเกลี้ยงห้างสรรพสินค้า เพื่อเตรียมไว้ใช้อุปโภค บริโภค รับมือกับพายุเฮอร์ริเคน “โดเรีย” ที่จะเกิดขึ้น ทว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะเรียกผิดเรียกถูกเกี่ยวกับชื่อหมู่เกาะข้างต้นกันอย่างไร แต่ปรากฏว่า การประชุมภายใต้การนำของผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้มีมติให้ประกาศให้พื้นที่ 4 รัฐ ดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความสะดวกสำหรับการรับมือและการกู้ภัยจากการได้รับความเสียหายจากพายุที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งยังได้กำชับกระตุ้นเตือนต่อประชาชนว่า ให้ปฏิบัติตามคำเตือนของทางการอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองเอง สำหรับการเผชิญหน้ากับมหาวาตภัยที่คาดว่า จะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ของชาวเมืองลุงแซมกันอีกครั้งหนึ่ง