กรมวิชาการเกษตรตอบชัดทุกข้อกังขาวัตถุอันตราย ชี้โยกย้ายเพื่อปรับปรุงระบบงาน ย้ำหลักเกณฑ์ หลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียน โต้ไม่เคยรับค่าตอบแทนแลกคำขอขึ้นทะเบียน พร้อมสนองนโยบายเกษตรอินทรีย์หนุนเกษตรกรผลิตสินค้า GAP และเกษตรอินทรีย์
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีการโยกย้ายนายธรรมนูญ แก้วคงคา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวัตถุอันตราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการวัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การจัดลำดับคิวในการพิจารณา การพิจารณาปริมาณการนำเข้าหลังได้รับทะเบียนแล้ว การรายงานสต๊อกคงเหลือ การพิจารณามาตรฐานโรงงานผลิตและการต่ออายุ โดยมอบหมายให้ นายศรัณย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ)ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการสูงกว่า และเคยปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มดังกล่าวมาก่อน ทำหน้าที่แทนอีกหน้าที่หนึ่ง มุ่งหวังให้เกิดความสำเร็จในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการในภาพรวม
กรณีการอนุมัติให้คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายไปแล้วจำนวนกว่า 50 คำขอ และการจัดประชุมปล่อยสารเคมีที่มีพิษทุกอาทิตย์ นั้น คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยลำดับแรกให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อยตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ลำดับที่ 2 เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก ซึ่งนอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วผู้ที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจะต้องมีหลักฐานเอกสารทางวิชาการ 3ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการฯ กำหนดให้มีการประชุมเป็นวาระปกติเดือนละ 2–3 ครั้ง โดยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนจำนวนครั้งละ 50-90 คำขอ
สำหรับการเปิดเผยตัวเลขต่างตอบแทนแลกกับการที่ได้รับการอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเท็จและไม่มีมูลความจริง เนื่องจากการพิจารณามีหลักเกณฑ์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะต้องให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน มีนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร และมีบุคคลภายนอกเป็นคณะอนุกรรมการฯ รวมอยู่ด้วยพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ ซึ่งการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ตามคำขอต้องเป็นมติของคณะอนุกรรมการชุดนี้เท่านั้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้สนองนโยบายรัฐบาลโดยอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยผ่านระบบการผลิต GAP ซึ่งหากมีความจำเป็นก็แนะนำให้เกษตรกรใช้สารชนิดที่ไม่อยู่ในบัญชีห้ามใช้ และใช้ในอัตราและความถี่ตามคำแนะนำทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีความพร้อมในด้านการปรับเปลี่ยนก็จะส่งเสริมและยกระดับจากเกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์ ตามความต้องการของตลาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์เป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วการที่มีการพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ มีสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดเดียวกันจะทำให้การผูกขาดทางด้านการตลาดของรายเดิมลดลง อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีทางการเกษตรจะต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมโรงงานผลิต ร้านค้าจำหน่าย และให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกวิธีต่อเกษตรกรด้วย


