ยานของนาซาบันทึกไว้ แต่ไม่ชัดว่าถูกชนตอนไหน คาดเหตุเกิดก.ย.59-ก.พ.ปีนี้ แต่เพิ่งบันทึกภาพได้เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา ชี้เป็นอุกกาบาตที่แข็งมาก เตรียมรอยานสำรวจเอกโซมอสลงจอดบนดาวอังคาร คาดจะได้ค้นพบข้อมูลใหม่ๆ บนดาวดวงนี้อีก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ พบหลุมอุกกาบาตใหม่ขนาด 15 เมตร บนพื้นผิวของดาวอังคาร บริเวณวาเลส มารินาริส (Valles Marineris) เผยให้เห็นถึงรายละเอียดขององค์ประกอบใต้ผิวดินจากร่องรอยการชนที่เป็นสีดำ และน้ำเงินกระจายออกไปทั่วบริเวณ ยานมาร์ส รีคอนไนเซนต์ ออบิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter; MRO) ของนาซาที่ปฏิบัติภารกิจมายาวนานกว่า 13 ปี สามารถบันทึกภาพหลุมนี้ไว้ได้ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยกล้อง High Resolution Imaging Science Experiment (HiRISE) เนื่องจากยานไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกัน จึงไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดการชนขึ้นเมื่อใด แต่คาดว่าอยู่ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน ปี 2559 ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2562 หลุมอุกกาบาตนี้คาดว่า เกิดจากการชนของก้อนอุกกาบาตขนาดประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งหากผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาเท่ากับโลกอาจแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและถูกเผาไหม้ไปในที่สุด ในขณะที่วัตถุส่วนใหญ่ที่เข้าไปยังชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจะถูกเผาไหม้ไม่หมด และแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ กระจายตกลงสู่ผิวดาว ดังนั้น อุกกาบาตนี้อาจประกอบด้วยหินแข็งมากกว่าปกติ จึงหลงเหลือเศษที่เป็นก้อนจากการเผาไหม้และตกลงบนพื้นได้อยู่ โดยบริเวณที่มีสีคล้ำกว่า เกิดจากฝุ่นที่กระจายออกจากพื้นผิวในขณะที่เกิดการชน ส่วนบริเวณสีน้ำเงินนั้นเป็นไปได้ว่าอาจมี “น้ำแข็ง” อยู่ใต้พื้นผิวนี้ ทีม HiRISE และ Veronica Bray นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ตรวจร่องรอยสีดำบนพื้นผิวของดาวอังคารหลายร้อยแห่งจากการเฝ้าติดตามภาพจาก MRO มาตลอด 13 ปี พบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของพื้นผิวบริเวณหลุมนั้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เพราะยังไม่มีข้อมูลทางสเปกโทรสโกปีจากอุปกรณ์อีกชิ้นที่มีชื่อว่า CRISM (Compact Reconnaissance Imaging Spectrometer for Mars) และถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลจากอุปกรณ์นี้ก็อาจมีข้อจำกัดด้านความละเอียดของอุปกรณ์ที่มีอายุกว่า 13 ปี ซึ่งมีความละเอียดเพียง 16 เมตรต่อพิกเซล (HiRISE ถ่ายภาพนี้ ด้วยความละเอียดมากถึง 25 เซนติเมตรต่อพิกเซล) นั่นหมายความว่าหากถ่ายภาพหลุมที่กว้าง 15 เมตร หลุมจะมีขนาดเพียงหนึ่งพิกเซลเท่านั้นซึ่งอาจทำการวิเคราะห์ได้ยาก ในอนาคต ยานสำรวจเอกโซมาร์ส (ExoMars) จะลงจอดบนพื้นผิวเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ร่องรอยของน้ำและแก๊ส รวมถึงตรวจสอบตัวอย่างแร่ธาตุด้วยการเจาะผิวดินลึกลงไป5 เมตร ซึ่งไม่เคยมีหุ่นยนต์ตัวใดทำมาก่อน นำไปสู่การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบใต้ผิวดาวอังคารต่อไป เรียบเรียง : ศิวรุต พลอยแดง - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.space.com/mars-fresh-crater-nasa-mro-photo-2019…"