ระบุปลดล็อกบางส่วนเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการรักษา ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 ปีแรกเปิดทางให้ผู้ประกอบการในไทยเท่านั้น เน้นให้คนไทยได้เข้าถึง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดก.สาธารณสุข เปิดเผยว่า กัญชาและกัญชง แม้จะเป็นพืชที่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แต่เนื่องจากในพืชทั้งสองชนิดมีสารสำคัญหลายชนิด ที่สำคัญคือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารแคนนาบิไดออล หรือ CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์มากแต่ไม่มีผลต่อจิตและประสาท ซึ่งพืชกัญชง (Hemp) กฎหมายปัจจุบันเอื้อให้ใช้ประโยชน์จากเส้นใยเป็นหลัก และระยะ 3 ปีแรกก็มีเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่จะขออนุญาตได้ ซึ่งเห็นว่าไม่เพียงพอ จึงเปิดกว้างเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นให้คุ้มค่า และต้องให้ประชาชน เกษตรกร สามารถขออนุญาตได้ด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร ทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถปลูกและนำไปผลิตในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ดังนั้น ภาครัฐจึงมอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับกัญชาและกัญชง ซึ่งเบื้องต้นได้ออกประกาศฯ ยกเว้นสารสกัดในกัญชงและกัญชา รวมทั้งบางส่วนของพืชกัญชงให้ไม่ต้องถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จากเดิมที่ยกเว้นเฉพาะเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ซึ่งเน้นย้ำว่า รัฐบาลตั้งใจจริงที่จะพัฒนาให้พืชกัญชาและพืชกัญชงเป็นพืชที่สร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมจากสมุนไพรไทยไปพร้อมกับการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานอย่างถ้วนหน้า ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สาระสำคัญคือ กัญชาและกัญชง ยังคงการควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และยังต้องขออนุญาตปลูกเช่นเดิม โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อน และกำหนดชื่อกัญชงแยกกับกัญชาให้ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดมาตรการการอนุญาต การกำกับดูแลส่งเสริมให้ปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในการยกเว้นการควบคุมสารสกัดกัญชาและกัญชง และบางส่วนของพืชกัญชงให้ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เจตนาเพื่อให้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยา สมุนไพร อาหาร หรือเครื่องสำอาง เพื่อนำรายได้เข้าประเทศโดยยกเว้นสาร CBD บริสุทธิ์ (THC ไม่เกิน 0.01 %) เนื่องจากไม่มีฤทธิ์เสพติด เพื่อนำไปใช้เป็นสารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการเท่านั้น สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชา กัญชงที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลักและมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งจัดเป็นยาหรือสมุนไพร เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ และน้ำมันจากเมล็ดกัญชงสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางได้ ทั้งนี้ ภายใน 5 ปีแรก ให้การยกเว้นนี้ใช้เฉพาะกับผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศ ไม่ได้ยกเว้นนำเข้า ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งหลังออกประกาศนี้ อย.จะต้องออกกฎ ระเบียบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ พร้อมกันนี้ จะเสนอแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับกัญชง พ.ศ. 2559 จากเดิมที่มีบทเฉพาะกาล 3 ปี ให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐขออนุญาตได้ เป็นเปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถขออนุญาตและพัฒนาการปลูกกัญชงไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากเดิมที่เน้นการใช้ประโยชน์เส้นใย ตลอดจนปรับแก้ไขการกำกับดูแล กระบวนการอนุญาตให้มีความรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาชน เกี่ยวกับรายละเอียดบางประการในประกาศทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน เพื่อหาข้อสรุปต่อไป