เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.ย. นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ดร.มูคิสะ คิตูยี เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ นายเชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ร่วมกันจัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2562 ขึ้น ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “การค้า เทคโนโลยี และความตึงเครียดในอนาคต : โอกาสและภัยคุกคามไร้ขอบเขต” (Trade, Technology and Future Tension : Limitless Opportunnities and Threats) เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ และระดมความคิดเห็นใหม่ๆ ด้านการค้า เทคโนโลยี และการพัฒนาในระดับภูมิภาค โดยมีแขกผู้มีเกียรติและผู้ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า สถาบัน ITD จัดตั้งขึ้นโดยความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เพื่อส่งเสริมการค้า การพัฒนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความตกลงที่เกิดขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สถาบัน ITD ก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว ดังนั้นการจัดงานประชุมในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็นท้าทายที่มีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนา และเพื่อเชื่อมโยง กระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการค้า การลงทุนที่สนองตอบต่อโลกยุคใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์อยู่ในรูปแบบรุนแรง อีกทั้งมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ นายเชิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้อาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น เกิดความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าว ก็เปิดโอกาสให้มีการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากรูปแบบการค้า การลงทุนในยุคของ AI ได้เช่นกัน โดยการจัดประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.มูคิสะ คิตูยี เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการอังค์ถัด ขึ้นเวทีอภิปรายในหัวข้อความเป็นผู้นำของเอเชียในด้านการทูตและการจัดการกับความตึงเครียดทางการค้าในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการเสวนาในหัวข้อน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การกำหนดยุคสมัยของการใช้วัสดุอุปกรณ์และการใช้ในการค้าระหว่างประเทศ ปัญญาประเทศและความท้าทายในอนาคต เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคมหรือสังคมขับเคลื่อนเทคโนโลยี มุมมองและประสบการญ์ในการเสริมสร้างขีดความสามารถ กรอบกฎหมายและเทคโนโลยีทางการค้าและการพัฒนา เป็นต้น ด้าน นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตนมีความคาดหวังว่าความรู้ที่ได้จากการประชุมในวันนี้จะมีส่วนช่วยในการผลักดันนโนบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ นโยบายสำคัญอาทิ การผลักดันการส่งออก หรือการสนับสนุนเศรษฐกิจยุคใหม่ การพัฒนาภาคบริการที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่งมีสิ่งที่น่าสนใจคือการลงทุนในยุค AI การคาดเดาผลกระทบต่อผู้บริโภคและคาดเดาแนวทางทำสงครามการค้ายุคใหม่ได้อย่างไร