เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงาน รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” มีการจัดเสวนาทางวิชาการ นำเสนอนิทรรศการสะท้อนแนวคิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ดี เช่น นิทรรศการเรียนรู้เท่าทันสื่อ MIDL นิทรรศการการรู้เท่าทันข่าวปลอม (FAKE NEWS) นิทรรศการสื่อสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรมอีสานจากภาคีเครือข่าย เช่น การแสดงหนังบักตื้อสื่อสร้างสรรค์ การแสดงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ภาษาและอาหารถิ่น นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์สื่อที่ดีและการมีส่วนร่วมของทุกคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น จะไม่สามารถทำได้เลย หากปราศจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนในสังคม จากทุกภาคส่วน และทุกภูมิภาคในประเทศไทย งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย จึงเป็นงานสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์การรวมตัวหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อพื้นบ้าน สื่อวัฒนธรรม สื่อมวลชน และสื่อทุกแขนงเพื่อรวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม “ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ สื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนในสังคม รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณในการบริโภคสื่อ และมีภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม ให้มีมากขึ้นในสังคมจึงมีความสำคัญยิ่ง” นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลัก คือ ส่งเสริมและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนมองบทบาทตนเองเป็นผู้สนับสนุน เสริมพลัง ประสานงาน และเอื้ออำนวยให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ทุกคนสามารถที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สื่อ และมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างพลเมืองว่า ปัจจุบันนิเวศสื่อเปลี่ยนไปรวดเร็วมากจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ กสทช.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี และสมาร์ทโฟนราคาถูกลงทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น มีการซื้อของออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงิน นิเวศสื่อจึงเปลี่ยนไปจากยุคอนาล็อค มาสู่ยุคดิจิทัล และกำลังเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) คอมพิวเตอร์จะฉลาดกว่ามนุษย์หลายเท่า และปัจจุบันก็เข้าเริ่มเข้าสู่ยุค AI แล้ว โดยตัวชี้วัด คือ การเข้าถึงอินเตอร์เนต 3 จี การสื่อสารในโลกสังคมออนไลน์ และการทำธุรกรรมออนไลน์ ทีเชื่อมต่อด้วยบรอดแบรนด์ไร้สาย ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอนาคตทุกอย่างจะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนตหรือยุค Internet of Things (IOT) คนจะตกงานและจะเจอปัญหาทางด้านจิตใจมากขึ้นจากการที่มีหุ่นยนต์ทำงานแทน ขณะเดียวกันคนแห่กันมาใช้โซเชี่ยวมีเดียแทนสื่อแบบดั้งเดิม อย่างวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งสะท้อนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารทางการเมือง “เทคโนโลยีเป็นแรงขับทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมไทยเตรียมพร้อมแค่ไหน เราพร้อมหรือยังที่รับมือ ที่ผ่านมาเรามี 3 จี ช้ากว่าประเทศอื่น แต่พอมีเราจะรับมือได้มากแค่ไหน หลายส่วนถูกนำไปใช้ในทางที่ดี เช่น ทางอาชีพการสื่อสาร แต่ตอนนี้เริ่มเห็นด้านมืดและมีปัญหาตามมา ทั้งเรื่อง ข่าวปลอม การหลอกลวงออนไลน์ การสร้างความแตกแยก เกลียดชัง จะทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศสื่อและเปลี่ยนผ่านไปได้” นายสุชัย เจริญมุขยนันท์ ตัวแทนมูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากและเกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี AI ที่สามารถมาทดแทนการทำงานและทำงานบางอย่างได้ดีกว่าคนทั้งการอ่านข่าว เขียนข่าว วิเคราะห์และคัดเลือกข่าวในการนำเสนอ ดังนั้น คนทำงานสื่อจึงต้องปรับตัวและร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมและสมดุลสื่อที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวการการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนไปและเลือกเสพสื่อตามที่ตนเองชอบหรือตรงตามทัศนคติของตัวเอง ซึ่งในอนาคตจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ้าพันธ์กันเกิดขึ้นได้ อาจารย์สำรวม ดีสม หรือ แม่น้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ ศิลปินมรดกอีสาน พ.ศ.2559 กล่าวว่า เทคโนโลยีสื่อทำให้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสานได้ง่ายขึ้น เด็กและเยาวชนสามารถถ่ายทำและเผยแพร่ได้ด้วยตนเองทำให้คนรู้จักกว้างขวางขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่กระทบต่อศิลปินพื้นบ้านในยุคดิจิทัลคือการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมา