วันที่ 2 ก.ย.62 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายธนัญชัย หรือ ไต๋หาร มิ่งมิตร ไต๋เรือ และอีกนาย สันติ หรือ ไต๋ติ บัวผุด หัวหน้าคนงานของเรือ ตามหมายเรียกผู้ต้องหาเข้าพบ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.กมค./ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่ห้องประชุมพร้อมพินิจ ชั้น 15 สำนักงานกฎหมายและคดีเพื่อสอบปากคำ จากการสอบสวนสอบปากคำนายธนัญชัย หรือไต๋หาร รับว่า เป็นไต๋เรือ นายสันติฯ หรือไต๋ติ ให้การรับสารภาพว่ารับว่าเป็นหัวหน้าคนงานของเรือลำที่เกิดเหตุจริง โดยตนเป็นผู้สั่งการในคลิป ให้คนงานในเรือลำดังกล่าวเอาโลมาที่ติดอวนขึ้นมาบนเรือจริง เบื้องต้นจึงแจ้งข้อหาว่า “ ร่วมกันจับโลมา และนำโลมาซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงโดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปในโลกโซเซี่ยล ว่ามี เรือประมง และคนงานในเรือจับโลมาจำนวนหลายตัวขึ้นบนเรือ เหตุเกิดในน่านน้ำประเทศมาเลเซีย โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตนในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ดำเนินการ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษประมง (SAT) ทำการสืบสวน และนำคลิปข่าวดังกล่าวไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยส่วนหนึ่งได้ประสานงานกับกรมประมงและทางการมาเลเซียเพื่อขอข้อมูลในเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งสามารถได้ข้อเท็จจริงว่า เรือลำที่เกิดเหตุนั้น ในอดีตเคยเป็นเรือประมงสัญชาติไทยชื่อว่า ส.พรเทพนาวี 9 และเมื่อปี 2560 เรือดังกล่าวได้เปลี่ยนไปเป็นสัญชาติอื่น กรมประมงเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 จึงทำการร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ซึ่งพนักงานสืบสวนสอบสวน และคณะฯ ได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 13 ปาก เป็นที่แน่ชัดว่าในเบื้องต้นว่าผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย 2 คน คือ นายธนัญชัย หรือ ไต๋หาร มิ่งมิตร ไต๋เรือลำที่เกิดเหตุ และนาย สันติ หรือ ไต๋ติ บัวผุด หัวหน้าคนงานของเรือลำดังกล่าว จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา ให้มาพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 2 ก.ย.2562 หลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวน จะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการเปรียบเทียบ ตาม พ.ร.ก.การประมงฯ ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผู้ต้องหาทั้งสองตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับ คดีอาญาก็จะเลิกกัน หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมชำระค่าปรับตามที่คณะกรรมการฯพิจาณา ทางคณะกรรมการฯก็จะส่งเรื่องกลับคืนมายังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสรุปสำนวนการสอบสวน และส่งผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวน ให้พนักงานอัยการ เพื่อฟ้องศาลต่อไป พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื่นที่สอบสวนปากคำ นายสุรัตน์ บัวผุด อดีตเจ้าของเรือ ส.พรเทพนาวี 9 ซึ่งอ้างว่าได้ขายเรือลำดังกล่าวให้ชาวมาเลเซียพร้อมกับได้โอนสัญชาติไปเป็นเรือประมงมาเลเซีย ชื่อ KNF7779 ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้เหตุอาจจะเกิดนอกน่านน้ำไทย และเรือประมงที่เกิดเหตุนั้นเป็นเรือต่างประเทศ แต่กฎหมายไทยก็ยังสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยได้ ซึ่งตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 8 ได้ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทําความผิดตาม พ.ร.ก.การประมงฯ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทําในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทยและไม่ว่ากระทําโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทําความผิดในราชอาณาจักรและต้องรับโทษตามที่กําหนดไว้ใน พ.ร.ก.การประมงฯ และให้ศาลไทยมีอํานาจ พิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอํานาจ ดําเนินการตามกฎหมายได้ ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ําไทย และการกระทําความผิดนั้น มิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทําได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทําความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดนั้นแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือขององค์การ ระหว่างประเทศในการดําเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทําความผิดตาม พ.ร.ก.การประมงฯ ซึ่งตาม ม. 66 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซี่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ข้อ 2 กําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง ซึ่งรวมถึง โลมาและวาฬทุกชนิด โดยการกระทำผิดดังกล่าว มีโทษตาม มาตรา 145 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาทหรือปรับจํานวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนําขึ้นเรือประมง แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า อีกด้วย