กรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดภูเก็ตเตรียมเสนอย่านเมืองเก่าภูเก็ตขึ้นมรดกโลก ชูสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเอกลักษณ์แบบชิโนโปรตุกีส ยก “ปีนัง มะละกา” ต้นแบบ ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 62 นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต เตรียมนำเสนอ เขตเมืองเก่าภูเก็ตเข้าสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยจัดทำเอกสารนำเสนอเอกสารเพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ภายในปี 2563 ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบเขตพื้นที่โดยรอบย่านเมืองเก่าที่มีสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนรูปแบบชิโนโปรตุกีส มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกในแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก ราวพ.ศ. 2054 ได้แก่ ถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง ซึ่งตนได้หารือกับนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ที่จะร่วมผลักดันการดำเนินงานร่วมกันให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ นายอนันต์ กล่าวอีกว่า จากการประชุมหารือร่วมกัน เห็นตรงกันว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีการผลักดันเสนอเมืองปีนังขึ้นทะเบียนมรดกโลก เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์เสนอเมืองมะละกาได้สำเร็จ เมื่อพิจารณาในส่วนของไทยเห็นว่า ศักยภาพของ เมืองเก่าภูเก็ตที่มีความโดดเด่นคล้ายคลึงกับ 2 เมืองดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีผู้อยู่อาศัยปกติ โดยอยู่ในเกณฑ์พิจารณาเมืองที่พัฒนาการมาจากความเจริญรุ่งเรือง และความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก สั่งสมเกิดเมืองเก่า ที่มีสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์แบบชิโนโปรตุกีส เพราะประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ตมีหัวใจสำคัญคือการทำเหมืองแร่ ก่อนที่จะเป็นเมืองท่า เมืองตากอากาศ จนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ในปัจจุบัน “เรามีประสบการณ์การทำงานในการเสนอเอกสารการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกมามาก โดยเฉพาะการนำเสนอแหล่งโบราณคดีที่จะต้องมีเอกสาร งานวิจัย ที่บ่งบอกอายุ การกำหนดยุคสมัยของสถานที่นั้นๆ แต่การนำเสนอเอกสารย่านเก่าเมืองภูเก็ตนั้นมีข้อได้เปรียบ ที่ขณะนี้เรามีทั้งข้อมูลเอกสาร ภาพจดหมายเหตุ และภาพถ่าย นำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงของการประกอบเอกสารได้ตรงเป้าหมาย ค่อนข้างครบถ้วน อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จัดทำเอกสารให้ชี้ชัดถึงคุณค่า ความสำคัญของร่องรอยอารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก และสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์แบบชิโนโปรตุกีส” นายอนันต์ อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว แฟ้มภาพ