“มนัญญา” ย้ำสหกรณ์ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP ลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร พร้อมดันขึ้นห้างโมเดิร์นเทรด บริการผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ในนาม "ผักปลอดภัยอุทัยธานี" เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนางสาวเยาวรัตน์ เรืองสาตรา สหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ให้การต้อนรับ โดย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรของเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ที่ใช้แนวทางในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย นางอมรรัตน์ ปัญญาสิทธิ์ ที่ได้ใช้พื้นในการปลูกบวบและปลูกพืชผักแบบผสมผสานสามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี และแปลงเพาะปลูกของนายวีรชาติ ช้างชุ่ม ซึ่งปลูกมะระจีนแบบผสมผสานกับพืชผักชนิดอื่นๆ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง แม้บางครั้งราคาพืชผลของพืชบางชนิดจะตกต่ำก็ยังมีพืชชนิดอื่นเข้ามา ทดแทนทำให้มีรายต่อเนื่องตลอดทั้งปี จากนั้นเดินทางไปยัง สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานและแนวทางพัฒนาพื้นที่ คทช. สำหรับพื้นที่โครงการฯ ได้มีการแบ่งออกเป็น 8 โซน หรือ 8 ชุมชน จำนวน 486 แปลง โดยแต่ละครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่ 0-1-50 ไร่ และเป็นแปลงเกษตรเพื่อทำกิน 4-2-50 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินสร้างบ้าน 150 ตารางวา พื้นที่ให้สหกรณ์ฯ สำหรับใช้ประโยชน์จำนวน 50 ไร่ และเพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินกิจการได้ตามเป้าหมาย กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงให้การสนับสนุนสร้างอาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง พร้อมจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดำเนินงานโครงการ จำนวน 1 อัตรา สนับสนุนโรงผลิตอาหารพร้อมห้องน้ำ 1 แห่ง และสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 2,000,000 บาท ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพผ่านระบบสหกรณ์ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกพืชผัก พืชไร่ ทำประมง และปศุสัตว์ ต่อมาทางสหกรณ์ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกผักปลอดภัย (ส่งบริษัท โลโบ้) ได้แก่ ปอญี่ปุ่น กระเจี้ยบ และพริก ส่วนหนึ่งปลูกหญ้าเนเปียร์ ส่งจำหน่ายสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์จำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน ในการนี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายและเน้นเรื่องส่งเสริมการนำมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices ; GAP) มาใช้เป็นแนวทางในการผลิต พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรลดละการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค และยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาด และในอนาคตหากมีปริมาณผักมากพอ อาจเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรดเพื่อกระจายผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ในนาม "ผักปลอดภัยอุทัยธานี"