ทองแถม นาถจำนง "เมื่อได้เห็นคนที่ร่วมศาสนาเดียวกันกลับไปหลงงมงายในการทรงเจ้าเข้าผี แม้แต่ผู้มีการศึกษาสูง มีปัญญาสูงผมก็ยิ่งเกิดความสลดใจ และรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก เหมือนกับว่าได้เห็นคนที่รักกันชอบกัน พอกำลังจมน้ำตายอยู่ต่อหน้า โดยที่ผมไม่มีทางที่จะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้" (คำของ "คึกฤทธิ์ ปราโมช") ในสังคมไทยนั้น ผู้คนยังคงเชื่อถือการทรงเจ้าเข้าผีกันอยู่มาก หากกระทำการกันอย่าง เป็น "ที่พึ่งทางใจ" คล้ายจิตแพทย์ในสังคมตะวันตก ก็ยังพอทำเนาไม่เสียหายอะไรมากนัก คนทรงเจ้ามีสิทธิที่จะสร้างนิทานอะไรก็ได้ จะสร้างให้ไร้สาระอย่างไรก็ได้เราไม่ว่าหรอก แต่ต้องยกเว้นประเด็นที่สร้างความข้อขัดแย้งร้ายแรงในสังคม โดยมีประเด็นการเมืองที่เกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนเป็นเหยื่อไปด้วย พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนวิพากษ์พวกทรงเจ้าเข้าผีไว้ไม่น้อยนะครับ วันนี้เอาเรื่องเบา ๆ มาดูกันก่อนก็แล้วกัน แล้วก็บังเอิญนะครับ ที่บทความชิ้นนี้ ท่านอาจารย์หม่อมอ้างถึงคำเทศนาของท่านเจ้าคุณปัญญานันทมุนีซึ่งเคยเป็นแม่กองใหญ่อยู่วัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่ก่อนที่จะเกิดวัดชลประทานรังสฤษฎ์ "ผมได้ไปอ่านพระธรรมเทศนาเก่าๆ ของท่านเจ้าคุณพระปัญญานันทมุนี ซึ่งท่านได้แสดงไว้ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ พบข้อความตอนหนึ่งซึ่งขอคัดลอกมาลงไว้ในที่นี้ 'เมื่อวานซืนมีครูคนหนึ่งเป็นครูสตรีสอนในโรงเรียนรัฐบาล ก็เป็นครูที่มีความรู้อยู่พอสมควร มาหาพระที่วัดองค์หนึ่งแล้วก็เอาหนังสือสำนักปู่สวรรค์มาถวายด้วย แล้วขอร้องพระรูปนั้นว่า ให้ท่านช่วยป่าวร้องให้ญาติโยมทั้งหลายได้รู้ได้เห็น แล้วให้ชักชวนกันไปที่สำนักปู่สวรรค์จะได้รู้จักศาสนามากขึ้น พระที่ได้รับหนังสือก็ไม่เกรงใจหรอก พูดคัดค้านออกไปทันทีว่า ครูนี่ถ้าจะหลงใหญ่เสียแล้ว สำนักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องทางพระพุทธศาสนาการทรงเจ้าเข้าผีไม่ใช่เรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ถูกตรงตามหลักพระพุทธศาสนาแกกลับหาว่าพระนี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยไปเห็น แล้วก็พูดคัดค้านไปอย่างนั้นเอง พระก็เลยไม่พูดต่อไป เพราะเห็นว่าครูคนนั้นแกตกลงไปในร่องลึกเหลือเกินแล้ว จะดึงขึ้นมันก็ไม่ไหว เลยก็ปล่อยให้กระแสแห่งความเห็นผิด พัดพาต่อไป สุดแล้วแต่จะไปชนแก่งหินโสโครกที่ไหนตามเรื่องของแกเถอะ เลยก็ไม่คุยกันในเรื่องนั้นต่อไป ชวนคุยกันเรื่องอื่นอีก อันนี้เป็นตัวอย่างที่นำมากล่าวเพื่อให้เห็นว่า แม้คนที่มีการศึกษาซึ่งเราเรียกว่าเป็นปัญญาชน แต่ก็ยังหลงใหลเข้าใจผิดอยู่ในเรื่องคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไปเชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาอยู่ มีจำนวนมิใช่น้อย แล้วไม่ใช่เชื่อเพียงคนเดียว ยังจะไปชวนใคร ๆ ให้มาหลงเชื่อต่อไปด้วย ให้ไปฟังเทศน์แต่ไม่ชวนให้ไปฟังพระเทศน์...... ทีนี้ ผีที่เทศน์ นั้นบางทีก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เทศน์เลอะเทอะไปตามอำนาจของคนทรงเจ้าเข้าผี แต่คนเหล่านี้ก็อุตส่าห์ไปนั่งประนมมือฟังกันด้วยความตั้งอกตั้งใจ หารู้ไม่ว่าตนกำลังทำอะไร อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสารมิใช่น้อย ถ้าเรามีโอกาสที่จะพูดจาแนะนำชักจูงคนเหล่านี้ให้ได้เกิดความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เราก็ควรกระทำ แล้วญาติโยมควรจะมีหลักไว้ในใจว่า ในชาติหนึ่งชาติหนึ่งที่เราเกิดมาเป็นผู้เป็นคนนี้ ถ้าเราได้กระทำคนที่มีความเห็นผิดให้กลายเป็นคนที่มีความเห็นถูกขึ้นสักคนหนึ่ง คนที่เดินทางผิดก็ให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ ตรงกับคำสอนในทางพระพุทธศาสนาสักคนหนึ่งคนที่เดินทางผิดให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ ตรงกับคำสอนในทางพระพุทธศาสนาสักคนหนึ่ง ก็นับว่าชีวิตนั้นใช้ได้ไม่เสียชาติเกิดมาเป็นผู้คนกับเขา คำปรารภของท่านเจ้าคุณในพระธรรมเทศนานี้ เหมือนกับว่าทิ่มแทงเข้าไปในหัวใจผม เพราะผมได้นึกอย่างเดียวกับที่ท่านได้ปรารภตลอดมา และเมื่อ ได้เห็นคนที่ร่วมศาสนาเดียวกัน กลับไปหลงงมงายในการทรงเจ้าเข้าผี แม้แต่ผู้ที่มีการศึกษามีปัญญาสูง ผมก็ยิ่งเกิดความสลดใจและรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก เหมือนกับ ว่าได้เห็นคนที่รักกันชอบพอกันกำลังจมน้ำตายอยู่ต่อหน้า โดยที่ผมไม่มีทางที่จะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้ จริงอย่างที่ท่านเจ้าคุณท่านได้กล่าวไว้ทุกประการ คนทุกวันนี้เชื่อผียิ่งกว่าเชื่อพระเมื่อเชื่อผียิ่งกว่าเชื่อพระ คนก็พากันนับถือผียิ่งกว่ารับถือพระ ท่านผู้ใดที่ยังมั่นคงในพระพุทธศาสนาก็ควรจะตั้งปัญหาถามตัวเองสักครั้งว่า เพราะเหตุใด คนทุกวันนี้จึงได้เชื่อผีและนับถือผีมากกว่าเชื่อพระ และนับถือพระ ? เพราะเหตุใด คนทุกวันนี้จึงไปหาผีและกราบไหว้ผี มากกว่าที่จะไปหาพระและกราบไหว้พระ คำตอบนั้นถ้าไม่หลอกตนเองแล้ว ก็เห็นจะต้องตอบว่า ผีเป็นที่พึ่งแห่งคนทุกวันนี้ยิ่งกว่าพระ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?ตอบได้ว่าเพราะคนทุกวันนี้ โลภทรัพย์ โลภชื่อ โลภเสียง โลภอำนาจวาสนา และโลภชาติ โลภภพเป็นอย่างยิ่ง" ("สยามรัฐหน้า5" วันที่ 24 มีนาคม 2515) .................. เราคนไทยเราพึ่งผี มากกว่าพึ่งพระแล้วจะเรียกตนเองว่าพุทธมามกะกันทำไม ? "คึกฤทธิ์ ปราโมช" วิจารณ์ไว้ว่า "เราเป็นพุทธมามกะ แต่ก็ยังนับถือต้นไม้ เทวดา พระภูมิเจ้าที่ การทรงเจ้าเข้าผี เราพูดว่า เรานับถือศาสนา แต่เราไม่สำรวจตัวเอง ไม่ดูตัวเอง ยอมรับเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาอ้างว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ การทรงเจ้ามีอยู่บ่อยๆ ในกรุงเทพฯก็มีบ้านคนดีๆ ก็มีการทรงเจ้า คนที่หน้าตามีการศึกษา เมื่อเราไปดูที่บูชาจะเห็นว่าไม่ใช่บูชาพระ แต่บูชาเจ้า คนในบ้านบางทีคุยกันอยู่ดีๆ ก็ทรงเจ้าเสียแล้ว บางบ้านมีคนถูกเจ้าเข้าทรงพร้อมๆ กันหลายคน แล้วเจ้าก็คุยกันให้อ้าวไปเลย ผมเคยมีแฟนเป็นคนทรงเจ้า เข้าทรงทีไรเป็นมาตามไปกินเหล้าทุกที คุยกันสนุก ภายหลังมานี้ผมสมาทานศีลเลิกกินเหล้าแล้ว เจ้าก็ชักอายๆ และเหินห่างไป คนที่นับถือสิ่งเหล่านี้ เป็นคนที่น่าวิตกมาก ถ้าเป็นชายก็เคยบวชเรียนมาแล้ว หญิงก็เคยเข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์ได้ ทำการต่างๆ อย่างที่พุทธศาสนิกชนทำกัน มีพระพุทธรูปกราบไหว้ แต่ก็นับถือของพวกนี้ ถ้าไปถามเขาว่า ทำไมจึงนับถือ ก็ตอบว่าของเหล่านี้เป็นไสยศาสตร์มีเหตุอธิบายไม่ได้จึงนับถือ ที่นับถือเพราะขลัง เพราะเหตุที่อธิบายไม่ได้ ทั้งนี้ขัดกับหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า "เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา เตสํ เหตํตถาคโต" แปลว่า ธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุ ตถาคตย่อมแสดงเหตุไว้แล้ว พุทธมามกะควรนับถือด้วยเหตุด้วยผล ธรรมนั้น พระบรมศาสดาทรงชี้แจงถึงเหตุได้ทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าเราหาเหตุไม่พบหรือยังไม่รู้เหตุ ก็ยังไม่ควรปักใจเชื่อและนับถือ" (ปาฐกถาของพลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ปราโมช เรื่อง "เรานับถือพุทธศาสนาหรือเปล่า ?" ท่านแสดงที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย (ปีอะไรไม่ทราบ)รวมพิมพ์อยู่ในพ็อกเกตบุ๊กชื่อ "คึกฤทธิ์กับพุทธศาสนา..." )