แสงไทย เค้าภูไทย
รัฐบาลชุดนี้อายุยังไม่ถึงครึ่งปี ความเชื่อมั่นของประชาชนเริ่มถดถอย จนถึงกับอยากให้ฝ่ายค้านอภิปรายซักฟอกตัวนายกรัฐมนตรีในหลายด้าน
สวนดุสิตโพลในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร กรณีฝ่ายค้านยื่นซักฟอก พล.อ. ประยุทธ์” เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ สรุปผลสำรวจความเห็นของประชากรสำรวจ ช่วง 21-24 ส.ค.ศกนี้
พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยประเด็นซักฟอกที่สำคัญที่สุดคือ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนจริง ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่เหมาะสม
ยังผลต่อเนื่องคือความเชื่อมั่นลดลง 62.14% เพราะเกี่ยวข้องกับ พล.อ. ประยุทธ์ โดยตรง ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย ไม่มั่นใจในการทำงาน รัฐบาลมีจุดอ่อนหลายอย่าง ฯลฯ
ความเชื่อมั่นส่งผลกระทบหลายด้าน ยามใดที่ความเชื่อมั่นของประชาชน ไม่ว่าจะด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ฯลฯ ถดถอยหรือเสื่อมถอย ยามนั้นการตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมในด้านเหล่านั้นจะชะลอลง
ใครที่คิดจะลงทุนหรือขยายกิจการ ก็จะดูที่ส่วนนี้
เพราะเมื่อใดที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็จะระมัดระวัง ไม่ยอมกิน ไม่ยอมเที่ยว
มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่รัฐบาลหว่านโปรยเงินลงไปกระตุ้นคนไทยเที่ยว กิน ใช้ จึงเป็นมาตรการระยะสั้น แค่วูบหาย
เม็ดเงิน 3.1 แสนล้านบาท ได้ผลกลับมาแค่ 10% ของเป้าหมายของรัฐบาลก็ถือว่าดีเกินคาดแล้ว
ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย คือฐานะของเศรษฐกิจไทยยามนี้
สถานการณ์หนี้ของคนไทย คนอายุน้อยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 50% คนไทยที่เป็นหนี้ 21 ล้านคน ติด NPL 3 ล้านคนหรือ15.9%
ธปท.รายงานล่าสุดเดือนนี้ว่า หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 53.5% เมื่อปี 2552 (10 ปี) ต่อจีดีพีเป็น 78.7% เมื่อสิ้นไตรรมาส 1 สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยว่า
หนี้เพิ่มขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.8%% เทียบกับ GDPแล้วเพิ่มขึ้นกว่า 25% ภายใน 10 ปีหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น 18.7%
ขณะที่ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความยากจนที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำชัดเจน
โดยแบ่งรายได้ครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่มตามชั้นรายได้
พบว่าคนจนยิ่งจนลง คนรวยยิ่งรวยขึ้น กลุ่มคนจน 40% มีรายได้น้อยลงในช่วงปี 2558 กับ 2560 (รัฐบาล คสช.)ขณะที่กลุ่มที่คนรวยที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้น
ประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อย รายจ่ายหมดไปกับค่าอาหารถึง 48% คือเกือบครึ่ง ขณะที่คนที่มีรายได้มากที่สุด ค่าใช้จ่ายหลักคือการเดินทางและการสื่อสาร
สาเหตุคือ คนจนกินเท่าเดิม แต่รายได้ลดลงและค่าอาหารสูงขึ้น สัดส่วนค่าอาหารต่อรายได้จึงเพิ่มขึ้น
ส่วนคนรวยเหลือกินเหลือใช้ก็ใช้จ่ายไปกับกิจกรรมด้านสันทนาการ
ในด้านการเข้าถึงคุณค่าทางอาหารกลุ่มคนที่จนที่สุด 20% แรก ได้รับพลังงานสารอาหารที่บริโภคต่ำกว่าเกณฑ์ ตรงข้ามกับกลุ่มคนที่รวยที่สุด 20% ซึ่งบริโภคอาหารเกินกว่าเกณฑ์
ตัวเลขชี้วัดเกล่านี้ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ชี้โทษไปที่รัฐบาลชุดที่แล้วและรัฐบาลชุดนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน
เกิดผลโพลของสวนดุสิตเป็นความไม่เชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี
ขณะที่โพลอีกสำนักคือ ซุเปอร์โพล ของมหาวิทยาลัยเอแบค ได้ผลสรุปเกี่ยวกับความนิยมในพรรคการเมือง
พบว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคที่คนรุ่นใหม่เลือกคืออนาคตใหม่
ส่วนคนรุ่นเก่ายังติดยึดกับพรรคเก่าๆที่ตนเคยเลือกซึ่งมีอยู่หลายพรรคแบ่งคะแนนกันไป
เป็นโพลหยั่งความนิยมพรรคการเมืองเพื่อผลกระทบต่อรัฐบาลมากกว่าจะถือเป็นแนวโน้มในการเลือกตั้งใหม่
เพราะรัฐบาลชุดนี้คงจะไม่ยอมให้เกิดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระแน่ๆ
แต่ถ้าสภาพเศรษฐกิจยังเป็นเคิร์ฟหักหัวลงเช่นนี้ คนแก่ที่เข้าถึงสื่อดิจิต้อลกันแทบทุกคนก็อาจจะเบื่อพรรคเก่าๆ
เลือกมาค่อนชีวิตแล้ว ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น
หันมาเลือกตามลูก ตามหลาน ยกอนาคตให้คนรุ่นใหม่รับช่วงกันต่อไปไม่ดีกว่าหรือ ?