ถ้อยแถลงของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ครั้งที่ 40 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของการประชุม เพื่อแก้ปัญหาในอาเซียน ทั้งกระแสของการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยพิบัติจากการอพยพ และสภาวะเสื่อมโทรมจากการคอร์รัปชั่น ซึ่งรัฐสภาในฐานะองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนของมากที่สุด จะเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
โดยขอนำเนื้อหาบางตอนมานำเสนอดังนี้ “หัวข้อของการประชุมใหญ่ฯ ในปีนี้ คือ นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียน เราเป็นหน่วยงานการปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนของเรามากที่สุด และอยู่ในตำแหน่งเฉพาะตัวที่จะเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดกับประชาชนเหล่านั้น ด้วยการฟังเสียงของประชาชนบอกเล่า เราสามารถจะจัดการกับต้นเหตุที่แท้จริงและทำให้ประชาชนมั่นใจถึงความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดี ตนเชื่อว่ามีสี่บทเรียนที่สำคัญที่ต้องระลึกไว้
บทเรียนแรก คือ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ มักจะมีอะไรให้เราทำเกินกว่าที่ความสามารถของเราจะทำได้เสมอ ในฐานะนักนิติบัญญัติ ก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะตัดสินใจว่าปัญหาไหนของประชาชนต้องอยู่ในลำดับต้น ๆ ดังนั้น เราต้องแน่ใจว่า ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเราจะเกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับมวลชน
บทเรียนที่สอง เราต้องทำงานด้วยกัน ทั้งที่อยู่ในกลุ่มประเทศของเราหรือกับเพื่อนร่วมงานของเรา เช่นเลขาธิการอาเซียน การร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการประสบความสำเร็จในอนาคตระยะยาว ในช่วงก่อนหน้า ในการประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียน เราได้เสนอให้มีเวทีการประชุมเพื่อให้มีการประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนกับเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนขึ้น ซึ่งประธานอาเซียนได้รับข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้น เรามาร่วมกันเริ่มต้นมุ่งไปสู่การร่วมมือนั้น บทเรียนข้อที่สาม เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเราจะมองไปยังคนในประเทศของเรา หรือผู้อยู่อาศัย 647 ล้านคนของอาเซียน หรือมากไปกว่านั้นที่พลเมืองของโลก มันสำคัญที่เราจะวัดความสำเร็จของเราจากความเป็นอยู่ของพวกเขา ถ้าเราเพิ่มขีดความสามารถให้พวกเขาสามารถยืนด้วยตนเองได้โดยการให้โอกาสและความมั่นคง ประชาคมจะเติบโตและคงทนได้ตามธรรมชาติ
บทเรียนที่สี่ เราจำเป็นต้องเคารพหลักนิติธรรม ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ กฎหมายเป็นแก่นแท้ของเรา เรารักษาระเบียบของสังคมผ่านกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายคือวิธีที่สังคมดูแลประชาชน
ไม่มีประเทศใดสามารถหยิบยื่นให้พลเมืองของเขามีความมั่งคั่งเท่ากันได้ แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครควรจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ขอให้ตนได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทย ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ประสบกับความทุกข์จากปัญหาความไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจน เมื่อฝ่ายบริหารได้เลือกปฏิบัติ ในทางต่อต้านต่อกลุ่มคนที่มีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างจากพวกเขา แต่ก็ยังคงมีความหวัง เมื่อสภานิติบัญญัติสามารถปกป้องการเลือกปฏิบัติของฝ่ายบริหารได้ และรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมทางกฎหมาย ตนได้รับเกียรติในการทำหน้าที่ทั้งการเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ หากขาดการถ่วงดุลอำนาจ สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวงจะกัดกร่อนสังคมจากภายใน ประชาคมที่ไม่รักษาหลักนิติธรรมจะไม่สามารถมีความเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง
ประชาชนชาวอาเซียนมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ นั่นคือสาเหตุที่นิยามของประชาคมที่ยั่งยืนเพียงแบบเดียวนั้นไม่สามารถใช้ได้ทุกที่ ไม่มีวิธีการหนึ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่นั่นก็หมายถึงว่า ทำไมสมัชชารัฐสภาอาเซียนถึงมีบทบาทสำคัญที่ต้องแสดง ตนยอมรับว่า ในประเทศไทย คนไทยทราบเกี่ยวกับ AIPA และความรับผิดชอบด้านต่างๆ ของเราน้อย แต่หากว่า ในสัปดาห์นี้เราสามารถแก้ปัญหาบางประเด็นที่เชื่อมโยงโดยตรงกับชีวิตของประชาชนได้ เราจะได้ที่นั่งในใจและความชื่นชมจากพวกเขา ความสามารถของเราในการเปิดรับความหลากหลาย เคารพในความแตกต่างนั้น และยังคงขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงจะสร้างให้ ASEAN มีคุณค่าสำหรับคนรุ่นต่อๆไป”