ทีมข่าวคิดลึก
ปิดฉากกันลงไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับวาระประเทศไทยว่าด้วยการลง"ประชามติ"เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยภาพรวมของสถานการณ์ไม่มีความวุ่นวาย ปั่นป่วน จนถึงขั้นที่เรียกว่า "คุมไม่อยู่" จะด้วยเพราะ"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช.ได้ "ทำการบ้าน"กันมาก่อนด้วยการตรึงสถานการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ
การสร้างสรรค์บรรยากาศการเมืองหลังวันลงประชามติ นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะหาก คสช. ไม่อาจควบคุมให้ทุกอย่าง อยู่ในสภาพที่เรียกว่า"คุมอยู่" ที่สุดแล้ว อาจจะกลายเป็นการเปิดช่อง เปิดทางต้อนรับความขัดแย้งให้เกิดขึ้นตามมา !
ในความเป็นจริงแล้วการเมืองหลังการลงประชามติ นั้นคือสิ่งที่ได้เคยมีหลายฝ่ายพากันคาดการณ์ ประเมินและวิเคราะห์กันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วง ผ่านหรือไม่ แล้วจะเดินกันต่อไปทางใด เสียงขับไล่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จากฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะ"เครือข่ายอำนาจเก่า"ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯจะดังกระหึ่มตามที่"สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) ได้ออกมาเปิดเผยเอาไว้กันก่อนหน้านี้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงวลีที่นำมาใช้เพื่อดิสเครดิต ทักษิณ ดึงเรตติ้งให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวันลงประชามติเท่านั้น
อย่างไรก็ดีการเมืองจากนี้ไป คือการกำหนดเกมโดย คสช. เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมปที่ คสช.วางเอาไว้ ด้วยความราบรื่นให้มากที่สุด แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช. เป็นคนกำหนดเกมทั้งหมดก็ตาม ขณะเดียวกันแม้จะบางกลุ่ม บางฝ่ายที่ไม่เห็นชอบด้วยก็ตาม แต่ย่อมไม่เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เรียกว่า ระดมกันออกมาเคลื่อนไหว ต่อต้าน จนทำให้ คสช.ต้องหยิบ"มาตรา 44" ขึ้นมาบังคับใช้
หลายฝ่ายเชื่อว่าการเมืองจากนี้ จะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าโหมดของการพักตัวความวุ่นวาย หรืออาฟเตอร์ช็อกจากผลการลงประชามติ มีเค้าว่าจะถูกแยกออกภารกิจการผลักดันให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 เป็นหลัก
กำลังของฝ่ายตรงข้ามทั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพการณ์ที่นิ่งสงบ อยู่ในที่ตั้งเนื่อง จากถูก คสช. ล็อก "หัวขบวน"กันเอาไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เรดโซน ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน
ผ่านมือไม้ของกองทัพที่ทำงานล่วงหน้าทั้งการสกัด ไปจนถึงการล็อกชนิดที่เรียกว่า "ถึงตัว"
ทั้งนี้สัญญาณที่ส่อแสดงให้เห็นว่า การเมืองหลังการประชามติ เข้าสู่โหมดที่เรียกว่า คสช. "เอาอยู่"นั้น ปรากฏชัดเจนเมื่อแกนนำของพรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายตรงข้าม ด้วยกันหลายคน ต่าง"ยอมรับอยู่ในที" ว่าเมื่อการลงประชามติมีขึ้นและดำเนินไปในลักษณะ ที่ไม่มีการเผชิญหน้า ไม่ว่าผลจะออกมาเช่น ใดก็ตามแต่ที่สุดแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี2560 อย่างแน่นอน
สิ่งที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้ามเมื่อพบว่าความคึกคักของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา คือท่าทีจาก"ฝ่ายการเมือง" เองไม่ว่าจะเป็นพรรคใดฝ่ายใด ดูจะใจจดใจจ่อประกาศตัวพร้อมลงสนามเลือกตั้ง 2560 กันไปหมดแล้ว
และนี่เองคือ "จุดอ่อน" ของนักการเมืองที่ คสช. มองเห็นและเชื่อว่าลึกๆแล้ว ทุกคนหวังที่จะไปแจ้งเกิดกันในสนามเลือกตั้ง ทั้งสิ้น เมื่อความต้องการที่จะเร่งเดินหน้าไปสู่การเปิดเกมใหม่ ในปี 2560 มีมากเท่าใด การยอมอดทนอยู่ในที่ตั้งด้วยความสงบ ก็ดูจะมีมากขึ้นเท่านั้น !-