ทีมข่าวคิดลึก ท่าทีจากสองพรรคการเมือง "ขนาดกลาง" แต่มีความสำคัญระดับ "ตัวแปร"ทางการเมือง ที่ไม่อาจมองข้าม ทั้ง "ชาติพัฒนา"และ "ชาติไทยพัฒนา" กำลังสะท้อนถึงบรรยากาศการปรองดองในมือ ของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. และ รัฐบาลว่าได้ดำเนินไปในทิศทางที่เป็นบวกมากกว่าลบ ! ทั้งพรรคชาติพัฒนา และพรรคชาติไทยพัฒนา ต่างสะท้อนกลับในทิศทางที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือยกมือสนับสนุนการสร้างความปรองดอง ของรัฐบาลและ คสช.โดยมองว่าหากเกิดขึ้นได้ก่อนการเลือกตั้ง น่าจะเป็นการดีต่อทุกฝ่าย และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบให้เกิดการเลือกตั้ง ถ้าบรรยากาศและสถานการณ์ในบ้านเมืองยังไม่พร้อม ยังไม่สงบมากพอ อีกทั้งล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ได้นำคณะสมาชิกพรรคหลายคนไปร่วมวงถกปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งชูประเด็นเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคการเมือง เน้นขจัดปัญหา "นายทุน" ปรับปรุงองค์กรอิสระ ก่อนที่จะถึงคิวของพรรคเพื่อไทย เป็นลำดับต่อไป โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ. "ภูมิธรรม เวชยชัย"เลขาธิการพรรค ได้เปิดเผยว่าเพื่อไทยได้รับเทียบเชิญเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ดูเหมือนว่าแนวรบด้านการเมืองในมือ รัฐบาลและคสช. จะอยู่ในสภาวะที่"เอาอยู่" ผิดกับปัญหาเก่าที่กำลังโถมเข้าใส่ครั้งใหม่ มิหนำซ้ำยังทำท่าว่าจะกลายเป็นเผือกร้อน ที่วัดใจ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.อยู่ไม่น้อย ! เมื่อปฏิบัติการบุกค้นวัดพระธรรมกายที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อจับกุม "พระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายตามหมายจับในหลายคดี โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เป็นต้นมา อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของคำสั่ง คสช. ที่ให้บริเวณวัดพระธรรมกาย เป็นพื้นที่ควบคุม แต่กลับต้องคว้าน้ำเหลว เพราะไม่เจอตัวพระธัมมชโย เจอแต่เพียงความว่างเปล่า จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นตามมา จนเกิดแรงกดดันไปยัง พล.อ.ประยุทธ์และ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะกำกับดูแลงานด้านความมั่นคง ทำให้ทั้งคู่ต้องออกมาตอบคำถามว่าวันนี้ พระธัมมชโย อยู่ไหน และจะสามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้หรือไม่ หรือที่สุดแล้วจะทำได้แค่เพียง "ได้ทำ" เท่านั้น ! ประเด็นการบุกวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย ยังไม่ทันยุติ พลันล่าสุดยังกลายเป็นว่า รัฐบาลยังเปิดศึกกับ "กลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ที่จ.กระบี่ขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ! มติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันศุกร์ที่17 ก.พ. ที่ผ่านมา ฟันธงให้มีการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่กระบี่ ทั้งที่มีม็อบชุมนุมกดดันรัฐบาล ประชิดติดรั้วทำเนียบฯนั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกเดินหน้าชนกับฝ่ายคัดค้าน "ขอกลุ่มที่มาต่อต้านอย่าสร้างความขัดแย้งกันอีกเลย ผมทราบว่ามีคนมาประท้วงก็จะขอดูว่าเขามาด้วยเหตุผลอะไร โดยจะให้กระทรวงพลังงานจัดเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงอีกส่วนผมอยากให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจง และทำความเข้าใจว่าอะไรคือหลักการและเหตุผลในการที่จะต้องเข้าไปดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ" พล.อ.ประยุทธ์ ฝากผู้สื่อข่าว ไปถึงกลุ่มต่อต้านที่หน้าทำเนียบฯ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้า ฯก็ยืนยันชัดเจน หลังรู้ผลจากที่ประชุมกพช.ว่า"ไม่ยอมถอย" จนกว่ารัฐบาลจะตัดสินใจใหม่แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับม็อบคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรอบนี้กำลังกลายเป็นโจทย์ข้อยากทั้งต่อรัฐบาลไปจนถึงฝ่ายการเมืองเองที่เริ่มหวั่นไหวว่าความ ขัดแย้งจากการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นนี้จะกลายเป็นข้อผิดพลาดหรือไม่อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาจนกระทบกันหมดทั้งกระดาน !