การตัดสินใจของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป(ปชช.) ที่ยื่นเรื่องไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เพื่อทำเรื่องของยุบเลิกกิจการพรรคการเมืองของตัวเอง แล้วจากนั้นเตรียมย้ายไปอยู่ในสังกัด “พรรคพลังประชารัฐ” เท่ากับยุบพรรคขนาดจิ๋วที่มีเพียง “1เสียง”แล้วไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่น่าที่จะยุ่งยาก วุ่นวายได้มากขนาดนี้ หนึ่ง เพราะไพบูลย์ เองก็มาจาก “อดีตสว.” ที่เคยอยู่ในกลุ่ม “10สว.” ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 สอง การเลือกเส้นทาง ทางการเมืองของไพบูลย์ ในการตั้งพรรคการเมือง ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อเตรียมการ แต่งตัวก่อนลงสนามเลือกตั้ง เมื่อ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่อยู่ในท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ในท่วงทำนองว่า พรรคประชาชนปฏิรูป นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกเสียจาก พรรคสาขาของพลังประชารัฐ นั่นหมายความว่า การตัดสินใจของไพบูลย์ในการยื่นยุบพรรคตัวเอง แล้วหวังที่จะไปอยู่ “บ้านใหม่” ที่เพิ่งเปิดต้อนรับ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานยุทธศาสตร์พลังประชารัฐหมาดๆ จึงเป็นเรื่องที่เสมือนว่า คิดการกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องแทนที่จะ “ง่าย” กลับกลายเป็น “ยาก” ขึ้นมาเสียอย่างนั้น !! เมื่อเหตุผลของการยุบเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นั้นไม่เข้ากับหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงยังไม่จบลงเพียงแค่ ไพบูลย์ยื่นเรื่องขอยุบพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ทำท่าว่าจะยืดเยื้อไปถึงการชี้ขาดของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อกกต.ได้มีมติและส่งเรื่องต่อไปเป็นด่านสุดท้าย ประเด็นของไพบูลย์ กำลังถูกจับตามองและตั้งข้อสังเกตอย่างหนัก ว่าหากพรรคประชาชนปฏิรูป “ทำได้” แล้วต่อไป พรรคอื่นๆ จะทำได้หรือไม่ เพราะทำไปทำมายังจะไปพันกับการตีความว่าเข้าข่ายการ “ควบรวม” พรรคการเมืองหรือไม่ โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา99 ห้ามมิให้ดำเนินการ แน่นอนว่า กรณีดังกล่าวดูจะมีผลต่อ “พรรคอนาคตใหม่” มากที่สุด เนื่องจากเป็นพรรคที่ถูกคาดการกันมาโดยตลอดว่าที่สุดแล้วพรรคจะมีอันต้องถูกยุบ และคนที่พูดถึง “ไพบูลย์โมเดล” ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่แสดงความกังวลว่า โมเดลดังกล่าวจะกระทบต่อพรรคอนาคตใหม่ มากกว่าใครเพื่อน โดยใช้ 1 เสียงของไพบูลย์ เป็น “ตัวแลก” กับ “50ปาร์ตี้ลิสต์”ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มี “คีย์แมน” ของพรรคอยู่ในกลุ่มส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แทบทั้งสิ้น “กรณีนายไพบูลย์เป็นการนำร่อง เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคนนำประเด็นดังกล่าวไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมามี 2 ทาง 1.สามารถยุบพรรคประชาชนปฏิรูปได้ ทำได้อย่างถูกต้อง พรรคพลังประชารัฐเอาไพบูลย์ ไปอยู่ด้วยได้ จากนี้ไปก็อาจจะถืออันนี้เป็นโมเดล สำหรับพรรคเล็กอื่นๆ นำไปใช้ 2.ถ้าศาลบอกยุบไม่ได้ ผลจากการเป็น ส.ส.ของนายไพบูลย์หลุดไปเลย เมื่อหลุดเลย ก็เป็นไปได้ว่าที่อาจจะมีการยุบพรรคข้างบ้านเรา ที่เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลต่อสถานภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 50 คน ที่อาจจะหายหมด เหลือเพียง ส.ส.เขต 31 คน แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คนนี้ จะไปสังกัดที่ไหนไม่ได้เลย เรื่องนี้เราต้องตามดูกันต่อไป เหมือนเป็นการเอากรณีไพบูลย์ 1 คน ไปแลกกับอีก 50 คนหรือไม่” สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุ ด้วยเหตุนี้ ประเด็นการเมืองที่กำลังปลุกความหวั่นไหวให้เทกลับไปอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน จึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น และเป็นไปได้ว่า ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างรอลุ้นว่าที่สุดแล้ว “ไพบูลย์โมเดล” จะออกมารูปไหน ! ?