ในการสัมมนาทบทวนผลการดำเนินการสร้างพลเมือง (Big Forum ) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดขึ้นนั้นมีบรรยายพิเศษเรื่อง "คุณภาพพลเมืองดี : พลังแห่งความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต มีเนื้อหาที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า ความเป็นพลเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผ่านมามีกฎหมายออกมาหลายฉบับซึ่งเอื้อสู่การเป็นพลเมืองและเอื้อต่อการเข้าถึงการจัดการทรัพยากร อาทิ กฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกที่กฎหมายลักษณะนี้ออกในสมัยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกฎหมายที่เป็นผลสำคัญต่อการเอื้อให้พลเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองได้ ทั้งนี้ ประชาชนในการเมืองมีชื่อที่แตกต่างกัน ในสมัยก่อนเป็นไพร่ฟ้าซึ่งอยู่ภายใต้บทบาทของผู้อื่น แต่พอเป็นระบอบประชาธิปไตยก็เป็นราษฎรแต่ก็ทำหน้าที่เพียงเลือกตั้ง และปล่อยให้ตัวแทนทำงานในสภาผู้แทนราษฎีรไป และหากเป็นประชาชนที่มีคุณภาพก็เป็นพลเมือง โดยพลเมืองจะใช้อำนาจของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็ร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจของตัวแทน ร่วมบริหารบ้านเมือง ร่วมแก้ปัญหาบ้านเมืองซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างแท้จริง นายบวรศักดิ์ ได้ให้นิยามพลเมืองคุณภาพไว้ 10 ประการ คือ 1.รู้สิทธิหน้าที่ของตัวเองตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย รวมทั้งรู้สิทธิหน้าที่ของตัวเองในแต่ละบทบาท 2.การเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น 3.เราต้องรู้จักผู้แทนของเรา พรรคการเมืองที่เขาสังกัด นโยบายของพรรค แต่หากไม่รู้พฤติกรรมเขาก็เหมือนการให้เช็คเปล่าไป เหมือนการเป็นราษฎรที่เลือกตั้งแล้วจบไป 4.รู้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล รู้อำนาจหน้าที่ของ ส.ส. รู้อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ต้องสนใจติดตามสิ่งที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ 6.ต้องไม่เชื่อข่าวลือ พลเมืองต้องมีหน้าที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 7.ต้องเคารพกฎหมาย 8.กล้าแสดงความเห็นที่มีฐานจากการศึกษาและไตร่ตรองอย่างมีความรู้ เป็นความเห็นที่มีฐานความรู้ และอย่านิ่งเฉย ถ้าแน่ใจว่ารัฐบาลทำผิดก็ต้องบอกว่าผิด 9.ต้องลงมือทำพูดอย่างเดียวไม่ได้ และ 10.มีสำนึกว่าเราเป็นเจ้าของบ้านเมือง สำนึกถึงปัญหาของบ้านเมือง และมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองและการแก้ปัญหา ทั้งนี้การมีส่วนร่วมไม่ใช่ให้เข้าไปนั่งในสภาฯกับ ส.ส.แต่มีส่วนร่วมในบทบาทที่เหมาะสม กระนั้น เราเห็นด้วยว่า พลเมืองตเองตื่นรู้ในสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ต้องรู้เท่าทันผู้มีอำนาจ โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากพลเมืองพึงตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองแล้ว รัฐบาลและองค์กรอิสระย่อมมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้พลเมืองมีคุณภาพ ประการสำคัญต้องปฏิบัติตนไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพพลเมืองด้วย