ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากลับเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอีกครั้งหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ออกมาพูดถึงปัญหานี้โดยประกาศไม่สนับสนุนการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เนื่องจากเป็นห่วงเด็กและเยาวชน
นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทยและพยายามป้องกันไม่ให้เขาเข้าถึงสิ่งเสพติดไม่ว่าจะเป็นสุราหรือบุหรี่รวมไปทั้งกัญชา แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อีกจำนวน 10.7 ล้านคน มีคนไทยที่ต้องได้รับควันบุหรี่มือสองอีกมากกว่า 15 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับควันบุหรี่อีกกว่า 50,000 คนต่อปี ปัญหานี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรับการแก้ไขและบางทีประเทศไทยอาจต้องการแนวทางใหม่ๆ เหมือนกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่พรรคภูมิใจไทยกำลังผลักดันอย่างเต็มที่
วันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและมีงานวิจัยใหม่ๆในต่างประเทศออกมามากมาย ปัจจุบันมีประเทศกว่า 70 ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมดูแลการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการลดพิษภัยให้กับตนเองและคนรอบข้างและมีเพียง 30 กว่าประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความล้าหลังด้านสาธารณสุข
สิ่งสำคัญคือการกำหนดนโยบายที่ดีควรมาจากหลักฐานเหตุผลและการพิจารณาอย่างรอบด้านโดยผลลัพธ์โดยรวม (Net Impact) มากกว่าเพียงประโยชน์ของประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แน่นอนว่าการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้การเข้าถึงของเยาวชนเป็นไปได้ยาก แต่นโยบายดังกล่าวก็ปิดกั้นโอกาสของผู้สูบบุหรี่อีก 10 กว่าล้านคน ทำให้เขาหมดทางเลือกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าการควบคุบบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจะช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์โดยรวมและช่วยชีวิตคนได้มากกว่าการห้ามโดยสิ้นเชิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงควรใช้โอกาสนี้ในการทำการศึกษาวิจัยและดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เข้าถึงเยาวชนแต่ก่อให้เกิดผลในทางบวกต่อการลดอัตราการสูบบุหรี่เช่น ประเทศอังกฤษที่มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ประเทศไทยเองยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการกำหนดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสวนทางกับต่างประเทศ ถึงเวลาที่จะศึกษาเรื่องนี้ อย่างเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นกลางเสียทีเพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว เพราะหากปล่อยไว้ต่อไปคนไทยก็จะยังคงลักลอบใช้สินค้าเหล่านี้อยู่ดี นำมาควบคุมให้เป็นระบบ ศึกษาวิจัยให้รอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จะช่วยให้การกำหนดนโยบายเรื่องนี้มีความเหมาะสมและแก้ปัญหาได้ในที่สุด