ความใฝ่ฝันต้องการให้สังคมมนุษยชาติทั้งมวล มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจนั้น เป็นความดีงามที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ถูกปัญหาเฉพาะหน้ารัดรึงไว้ จนน้อยคนที่จะสละตัวอุทิศให้กับการรักษาความดีงามนี้ สังคมมนุษย์นั้นเป็นไปตามสัจธรรมพระไตรลักษณ์ คือเปลี่ยนแปรตลอดเวลา และเต็มไปด้วยความทุกข์ สิ่งที่เราทำได้ก็เพียง พยายามทำให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุด ถ้าเปรียบเทียบสังคมกับร่างกายมนุษย์ พัฒนาการของสังคมมนุษย์พัฒนามาด้วย หนึ่งสมองกับสองขา สมองหรือส่วนชี้นำพัฒนาการสังคมนั้นคือ “วัฒนธรรม” บางท่านอาจมองว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสิคือส่วนชี้นำสังคม แต่พูดในความหมายกว้างแล้ว “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรม” เท่านั้น การพัฒนาวัฒนธรรมหรือกระทั่ง “ปฏิวัติวัฒนธรรม” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสังคม ส่วน “สองขา” ของสังคมนั้น ขาหนึ่งคือระบอบเศรษฐกิจ อีกขาหนึ่งคือระบอบการปกครองหรือการเมือง เศรษฐกิจและการเมืองมีหลายลัทธิความเชื่อ ไม่มีระบอบใดดีทั้งหมดหรือเลวทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่า “สมอง” มันกำกับควบคุม “สองขา” ให้ดีได้เพียงใด ? ถ้าสมองมันดีงาม คือด้านดีงามเป็นด้านหลัก มันก็กำกับ “สองขา” ให้อยู่ในกรอบของความดีงามได้ แต่ทุกวันนี้ มนุษย์เราคิดกลับหัวกลับหาง คือเอา “ขา” หรือ “ตีน” มาเป็นตัวกำกับหลัก เช่น เอาเศรษฐกิจทุนนิยมมาเป็นตัวกำหนดทุกเรื่องทุกราวในชีวิตสังคม การแก้ไขก็คือต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เอาสมองคือวัฒนธรรมมากำกับ เช่น การพัฒนาประเทศ การพัฒนาจังหวัด การพัฒนาชุมชน การจะนำเอาทรัพยากรสภาพแวดล้อม ทรัพยากรบนดิน ใต้ดิน ใต้สมุทร ของส่วนรวมขึ้นมาใช้นั้น ความคิดชี้นำไม่ควรอยู่ที่ “กำไรสูงสุด” หรือผลประโยชน์ของกูของพวก แต่ควรมีความคิดชี้นำเรื่องประโยชน์สุขร่วมกันของชุมชน ของเจ้าของพื้นที่ เรื่องความสุขความเจริญอันยั่งยืนร่วมกันอย่างเป็นธรรม สังคมยุคนี้เอาเรื่องประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาเป็นความคิดชี้นำ แต่การพัฒนาด้านวัตถุตามแนวทาง “ทุนนิยม” นั้นเป็นดาบสองคม ถ้าทำอย่างไม่เหมาะสมแล้ว จะสร้างความทุกข์มากกว่าความผาสุกที่ยั่งยืน กลุ่มคนส่วนน้อยที่ “ได้เปรียบ” ในสังคมจะยิ่งเจริญรุ่งเรือง แต่กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ “เสียเปรียบ” จะเป็นฝ่ายรับความเสียหาย ความทุกข์ที่เกิดตามมาจากการพัฒนาที่ไม่เหมะสมถูกต้อง ตัวอย่างบทเรียนด้านลบของการพัฒนาทางวัตถุ มีให้เห็นทั่วโลก แต่ก็ยังไม่อาจเปลี่ยนแปร “แนวคิดกระแสลัก” ของการพัฒนาได้ ทั้งนี้เพราะ ส่วนหนึ่งแนวคิดนี้ฝังรากลึกมาก อีกส่วนหนึ่งเพราะผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มชั้นบนของสังคมที่กุมอำนาจได้รับประโยชน์จากแนวพัฒนานั้น นักการเมืองและผู้กุมอำนาจการปกครอง หากใช้แต่ “สองขา” ในการบริหารจัดการบ้านเมือง ไม่เอาส่วน “สมอง” มาชี้นำ การพัฒนาทางวัตถุจะเกิดผลด้านลบได้มาก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเสียเปรียบ “อภิทุนข้ามชาติ” การพัฒนาที่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คุ้มค่า การพัฒนาทางวัตถุที่ทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ขณะเดียวกันพลเมืองประเทศกำลังพัฒนาก็ถูกรัดรึงจากปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ถูกมายาคติทุนนิยม “ลัทธิบริโภคนิยม” ครอบงำ ทำให้เกิดภาวะ “ต่างคน ต่างอยู่” ขาดพลังรวมหมุ่ของชุมชน แนวทางพัฒนาประเทศแบบ “เสริมส่ง” กลุ่มผู้ได้เปรียบในสังคม ทอดทิ้ง กลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม” เช่นในประเทศไทย จึงยังเป็นกระแสหลักต่อไป จะยางนานเพียงใด นั่นขึ้นอยู่กับ “สมอง” ของสังคมไทย ชาวบ้านก็แสวงประโยชน์ส่วนตน ต่างคนต่างอยู่ พลังรวมหมู่ของชุมชนสลายไป การกำกับพฤติกรรมมนุษย์โดยชุมชนแบบโบราณก็สลายไป