แสงไทย เค้าภูไทย อดีตประธานาธิบดีเผด็จการของซูดาน ถูกดำเนินคดีคอร์รัปชั่น เป็นอุทธาหรณ์เผด็จการไทยว่า ต่อให้ครองอำนาจนานแค่ไหน สุดท้ายก็โดนโค่นและเข้าคุกในคดีคอร์รัปชั่นเหมือนกันทั้งนั้น อดีตประธานาธิบดีนายพล โอมาร์ อัล บาชีร์ วัย 75 ปีครองอำนาจที่ได้มาจากการทำรัฐประหารมื่อปี 1989 ถูกกองกำลังป้องกันประเทศที่แปรพักต์ไปเข้ากับประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านนานนับเป็นเดือนๆโค่นเมื่อเมษายน ศกนี้ เขาถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฝ่ายต่อต้าน 300,000 คนในเมืองหลวง ธาร์ฟูร์ และถูกนำตัวขังคุกนับแต่ทหารของเขาเองยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ขณะนี้ ทหารที่ยึดอำนาจ ได้ทำข้อตกลงกับผู้นำประชาชนร่วมกันบริหารประเทศ เพื่อถ่ายโอนอำนาจ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในพิธีลงนามสัตยาบัณร่วมบริหารและถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้ มีสมาชิกระดับบริหารของสหภาพแอฟริกัน( African Union Commission ) ได้แก่ประธานสหภาพ นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย ผู้แทนจากอียิปต์ ซาอุดิอาเรเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเร็ตส์ ระยะเวลาในการร่วมปกครองประเทศ 3 ปี เหตุผลก็คือเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารแบบรวมศูนย์ขึ้นกับประธานาธิบดีเผด็จการไปเป็นการกระจายอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ต้องตั้งสภานิติบัญญัติ สมาชิก 300 คนขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญและแก้กฎหมายกันใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องคงกองกำลังไว้ในเมืองหลวง เพื่อป้องกันการรบกวนจากกลุ่มก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงด้วย ในช่วงพิธีลงนามประวัติศาสตร์นี้ ชาวซูดานแห่กันเข้าเมืองหลวงด้วยขบวนรถไฟที่แน่นขนัด เพื่อร่วมร้องรำทำเพลง "บทเพลงแห่งเสรีภาพ" ภาพเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคม 2516 หลังเผด็จการถนอม-ประภาส ถูกขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ขับไล่จนหนีออกนอกประเทศ เผด็จการที่ถูกโค่นล้ม ไม่ว่าจะเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจรและพลเอกประภาส จารุเสถียร จนถึงนายพลบาร์ชี ล้วนถูกดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นกันทั้งนั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ในช่วงมีอำนาจ บุคคลเหล่านี้ใช้อำนาจกอบโกยผลประโยชน์และความมั่งคั่งให้ตนเองและบริวาร มีทั้งการคอร์รัปชั่นในนโยบาย หรือกินตามน้ำ หรือการใช้ตำแหน่ง ใช้อำนาจหน้าที่ตักตวงผลประโยชน์ ใช้บารมี ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริเวารฯลฯ อย่างของไทยยุคเผด็จการ มีทั้งนายทหารและพลเรือน นักธุรกิจ เจ้าสัวเข้าไปสวามิภักดิ์นายทหารผู้มีอำนาจบารมี เฉพาะในรัฐวิสาหกิจนั้น จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า สัดส่วนของบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ช่วงมีรัฐบาลเผด็จการก่อน เหตุการณ์ 14ตุลาคม 2516มีนักการเมืองร้อยละ 12 ทหารร้อยละ 28.8 ข้าราชการพลเรือนร้อยละ 53 และอาชีพอื่นๆแค่ร้อยละ6.2 เท่านั้น แต่หลังจาก 14 ตุลา 16 ไม่มีทหารนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกเลย จนมาถึงวันนี้ 5 ปีที่ผ่านมา ทหารตบท้อปบูทเข้านั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจกันพรึ่บ รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง มูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า 14 ล้านล้านบาท รายได้ต่อปี 4.3 ล้านล้านบาท มีทหารเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดถึง 40 แห่ง รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีกำไร 12 แห่ง มีถึง 9 แห่งที่มีทหารเข้าไปนั่ง และยังมีบุคคลที่ใกล้ชิดทหาร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตอนนี้แปรสภาพเป็นวุฒิสมาชิกบ้าง นับร้อยๆคน ค่าตอบแทน ทั้งเป็นรายเดือนและต่อปี ตั้งแต่ 1.2 แสนบาทไปจนถึง 7 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีกำไร จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่บางส่วนขาดทุนซ้ำซาก แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนแก่บอร์ด อย่างเช่นการยางแห่งประเทศไทยและการบินไทยเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณไปให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นอยู่ รวมๆแล้วประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงยังถอนตัวจากอำนาจปกครองประเทศไม่ได้ เพราะถ้าวางมือหรือถอนตัว บรรดาบริวารที่นั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ก็จะต้องสิ้นสภาพตาม เพราะรัฐาลใหม่ เขาก็ต้องคัดเลือกคนของเขาเข้าไปนั่งเป็นธรรมดา แบบทีใครทีมัน ซึ่งก็ยังดีที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรครัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่กินกันจนบางแห่งล่มจมถมหนี้ให้คนไทยร่วมกันแบกรับอย่างทุกวันนี้