เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.com
ข่าวหนุ่มเรียนจบปริญญาแบบพึ่งพาตนเอง กู้กยศ.ไม่ได้ ก็เก็บขยะขาย ล้างจานหาเงินไปจ่ายค่าเล่าเรียน คนชื่นชมทางโซเชียลมีเดีย ทำไมกรณีแบบนี้กลายเป็นเรื่องประหลาด
เมื่อก่อนนี้เป็นเรื่อง “ปกติ” มากโดยเฉพาะคนไปเรียนเมืองนอก ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ถ้าหากไม่ใช่ลูกคนรวยก็ต้องพึ่งตนเอง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยทั้งนั้น ทำงานตามร้านอาหาร ล้างจาน ส่งหนังสือพิมพ์ ล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดบ้าน ดูแลคนแก่ ดูแลเด็ก ทำงานในฟาร์มในสวน และอื่นๆ
งานต่างๆ ในบ้านเราก็ไม่ได้ขาด ทั้งในเมืองและในชนบท แล้วทำไมเด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาวบ้านเราส่วนใหญ่จึงไม่สนใจทำงาน อย่างน้อยก็งานพิเศษ มีรายได้พิเศษ ช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว มีมากมายหลายทาง หลายวิธี ความรู้ในการทำก็หาได้ไม่ยาก แค่เปิดยูทูปเขาสอนให้หมด
หรือไม่ก็มีคนประกาศหาคนหนุ่มคนสาวที่ไม่มีงานทำไม่มีรายได้ แต่อยากเรียนมหาวิทยาลัย อย่างกรณีของคุณจีระเดช ใจก๋า ที่ปลูกไม้ไผ่และแปรรูปขายในและต่างประเทศ ยินดีจ่ายค่าเทอมให้ กินอยู่ด้วย และสอนวิชาการปลูกไผ่ การแปรรูปไม้ไผ้ให้ด้วย ไม่มีใครสนใจ
เพื่อนผมเป็นอาจารย์ “มหาวิทยาลัยชีวิต” สอนนักศึกษาให้ทำการเกษตรเล็กๆ ที่พอทำได้ง่ายถ้ามีพื้นที่บ้าง เขาทำเป็นตัวอย่าง แค่ปลูกบวบในพื้นที่แคบๆ ไม่กี่วันเก็บขายได้วันละ 100 กว่าบาท เดือนละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท 3 เดือนก็ได้ 9,000 บาท มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนได้หนึ่งเทอม
หลายสิบปีก่อน เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักพัฒนาด้วย ลูกเขาสองคนเรียนมัธยมปลายและต่อมาที่รามคำแหง พับถุงกระดาษส่งแม่ค้าทุกวัน ช่วยค่าใช้จ่ายพ่อแม่ ค่าเล่าเรียนตนเอง ค่าอาหารค่าขนม
หลายปีที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตหลายคนได้เรียนรู้วิธีการหาเงินจ่ายค่าเทอมโดยไม่รบกวนครอบครัว บางคนปลูกผักในสวน ไม่พอก็ไปซื้อผักจากสวนคนในหมู่บ้านที่เขาเหลือกิน หรือไม่ก็ไปเก็บจากป่า มัดรวมกันไปขายกำละ 5 บาท ตอนแรกได้วันละ 100 ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 500 บาท เดือนละ 15,00 บาท แรกๆ ก็เป็นแค่รายได้เสริม ไปๆ มาๆ กลายเป็นรายได้หลักไปเลยก็มี
เคยเห็นข่าวนักธุรกิจจำนวนมากบ่นว่า เด็กรุ่นใหม่ใจไม่สู้ ไม่อดทน อยากทำงานสบายๆ แต่ไม่มีความรู้จริง ไม่มีประสบการณ์ คิดไม่เป็น และไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ นับเป็นการวิจารณ์ที่แรง แต่น่าจะจริง เพราะเขาพูดจากประสบการณ์ในการรับคนเข้าทำงาน
เรื่องอย่างนี้คงโทษใครคนเดียวไม่ได้ คงเป็น “บาปสังคม” (social sin) ที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะค่านิยมผิดๆ ต่างๆ ตั้งแต่การเลี้ยงดูลูก การศึกษา ทัศนคติ และระบบโครงสร้างทางสังคม
เคยประเมินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาจิตสำนึกของเด็กที่โรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากการขอร้องขององค์กรต่างประเทศ ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่า พยายามให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้ที่จะช่วยตัวเอง ช่วยกันเอง โดยการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในโรงเรียน
เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายจะมีงานทำในโรงเรียน ในห้องเรียน ทำความสะอาด ลบกระดาน ล้างห้องน้ำ เก็บกวาดบริเวณโรงเรียน ล้างจานหลังอาหาร
ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่า คนรวยจริงๆ เขาไม่บ่นว่าโรงเรียนเลย ขอบคุณเสียอีกที่ช่วยสอนให้ลูกเขาทำงานเป็น ช่วยตัวเองและคนอื่นได้ เพราะอยู่บ้านไม่ค่อยได้ทำ ผู้บริหารบอกว่า แต่ก็มีคน “กึ่งดิบกึ่งดี” “ไม่รวยจริง” (แต่อยากอวดว่ารวย) ที่บ่นว่าโรงเรียนให้ลูกทำงาน ทำให้ลำบาก
เด็กๆ ทุกวันนี้จึงแบมือขอเงินพ่อแม่ไปโรงเรียน ไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่อยากทำงาน อยากไปอยู่หอพัก ห้องเช่ากับเพื่อน บางคนมีแฟนอีกต่างหาก มีมอเตอร์ไซค์ซิ่งไปมา ทั้งๆ ที่สามารถหางานทำพิเศษได้ก็ไม่ทำ อายเพื่อน เพราะคนอื่นก็ไม่มีใครไปทำงานกัน ขอเงินพ่อแม่ง่ายดี
ค่านิยมทางสังคมหลายอย่างก็มีส่วนสำคัญ “หน้าตา” เป็นเรื่องใหญ่ อายที่จะทำมาหากินแบบที่เห็นว่าเป็นงาน “ต่ำต้อย” อายเพื่อน อายชาวบ้าน เพราะโบราณสอนว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” จึงอยากได้งานที่สบายๆ มีหน้ามีตา คนที่ใช้แรงงานจึงถูกดูถูก คนใช้สมองมีเกียรติ จะให้ดีควรเป็น “เจ้าคนนายคน”
การที่ผู้คนชื่นชมเด็กหนุ่มที่ทำงานเก็บขยะหาเงินเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนเอง แสดงว่า สำนึกดีของสังคมก็ยังมีอยู่ ผู้คนทั่วไปไม่ได้คิดว่า เด็กที่ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่สาธารณะเป็น “ขอทาน” แต่เป็นคนที่นำความสุขไปให้ผู้คน ใครจะให้เงินก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ ตอบแทนความสุขล็กๆ ที่ได้รับจากเสียงดนตรี
แต่คนที่ทำงานหาเงินช่วยตนเองเช่นนี้มีไม่มาก ทั้งๆ ที่โอกาสมีมากมาย อยู่เมืองไทยไม่อับจนแน่ เพราะมีดิน มีน้ำ มีแดด และมีความรู้ประสบการณ์ของผู้รู้มากมายที่พร้อมจะสอนและช่วยให้ทำได้ทำเป็น
หากใจสู้ใจรัก ก็จะทำอะไรได้มากมาย เหมือนคนที่จบปริญญาตรี โท กลับไป “ต่อยอด” การเกษตรของพ่อแม่ อยู่รอด มั่นคง และมีความสุขกว่าการทำงานในออฟฟิศ คนแบบนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ยาก คือ ทำอย่างไรให้คิดเป็น คิดนอกกรอบ และคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสังคมวันนี้เป็นสังคมเปิด โลกเปิด ให้โอกาสมากมาย อยู่ที่ว่ารักการเรียนรู้ด้วยตนเอง สร้างความรู้ใหม่ด้วยการลงมือทำเองเพียงใด ไม่รอสูตรสำรเร็จเพื่อรวยลัด รวยเร็ว “ไม่หมิ่นเงินน้อย ไม่คอยวาสนา” อย่างโบราณท่านสอน
ในยุคที่ “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังมาแทนที่ “แรงงานคน” “คนที่จะอยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด” (ชาร์ลส์ ดาร์วิน Survival of the Fittest)