ข่าวการจากไปของ “มาเรียม” พะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง กลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่จุดกระแสให้สังคมตื่นตัวเรื่องการดูแลและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อทีมสัตวแพทย์รายงานผลผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายของมาเรียม พบสาเหตุมาจากการช็อก นอกจากนี้ พบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีก๊าซสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา ทีมแพทย์ระบุว่า ช่วงแรกของการรักษาสามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกไม่สามารถรักษาได้จึงลุกลามไปจนช็อก และทำให้พะยูนมาเรียมตาย นอกจากนี้ยังพบรอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน อาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น หินขณะที่เกยตื้น เรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมแผนจัดการขยะทะเลด้วย โดยจะเป็นการดูแลและอนุรักษ์พะยูนในภาพรวมในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของพะยูน โดยเน้นย้ำว่าแผนดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับชุมชนและชาวประมงที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งนี้ผลการประชุมคณะอนุกรรมการสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ ที่มีนายธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เป็นประธาน มีการรายงานสรุปสถานการณ์ พะยูนในไทยมี 250 ตัว อยู่แถวตรังกระบี่ 200 ตัว ที่เหลือกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ปกติเสียชีวิต 10-12 ตัวต่อปี สาเหตุหลัก 90% คือเครื่องมือประมง ปีนี้เกยตื้น 16 ตัว เสียชีวิต 15 ตัว ยังเหลือ “ยามีล” อีก 1 ตัว สรุผลแฟนพะยูนแห่งชาติ 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก ช่วยพะยูนให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีพะยูนเพิ่มขึ้น 50% ภายใน 10 ปี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งการวิจัยพะยูน ยกระดับการดูแลรักษา เครื่องมือ อุปกรณ์ สัตวแพทย์ สถานที่ และเครือข่าย ฯลฯ ประเด็นที่สอง พะยูนโมเดล “พะยูนอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ดี ทะเลมีความสุข” ลดอัตราการตายของพะยูนที่เกิดจากเครื่องมือประมง ทั้งนี้การห้ามบางเครื่องมือบางพื้นที่ ไปพร้อมๆกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมงในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพะยูน และช่วยกันรักษา ไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์แต่สร้างความเดือดร้อน ประเด็นสุดท้าย คือมาเรียมโปรเจ็ค เสนอให้ วันที่ 17 ส.ค. เป็น “วันพะยูนแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงมาเรียมและรณรงค์เรื่องขยะทะเลและสัตว์หายาก พร้อมเสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนมาเรียม” เพื่อขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกคน ในการเข้ามาร่วมปกป้องพะยูนและสัตว์หายาก ต่อต้านขยะทะเลร่วมกัน อีกทั้งจะผลักดันให้เกิดการประชุมพะยูนโลก ความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งในเรื่องสัตว์หายากและขยะทะเล ฯลฯต่อไป ทั้งนี้ ผลการประชุมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เราเชื่อว่า หากเป็นไปตามแผนดังกล่าวนี้จะนำไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์พะยูนที่ตั้งเป้าไว้ และเป็นโมเดลในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นๆต่อไป ที่สำคัญคนไทยต้องไม่ “ลืมง่าย” และปล่อยให้ “มาเรียม”เลือนหายไปกับกาลเวลา