ทีมข่าวคิดลึก ตลอดทั้งสัปดาห์ต้องยกพื้นที่ให้กับภารกิจสำคัญของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่กำลังเดินหน้าสร้างความปรองดอง ตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ตามลำดับ ด้วยการเชื้อเชิญ "พรรคการเมือง" ทั้งสิ้น 70 พรรคเข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความเห็น กันที่กระทรวงกลาโหม โดยมี "บิ๊กช้าง"พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม รับหน้าที่คุมเวทีการหารือ เปิดหน้า ส่งสาร สื่อความต้องการอย่างตรงไปตรงมา จากพรรคความหวังใหม่ ในฐานะพรรคการเมือง พรรคแรกที่ได้รับเกียรติ ไปร่วมพูดคุยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยการระบุว่าต้องการให้คสช.เปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถจัดการประชุมพรรคได้ หลังจากที่ถูกล็อกกันมานาน และประเด็นที่สำคัญ จนเหมือนเป็นการ "ถามแทนใจ" ของเพื่อนพ้องนักการเมืองด้วยกันเองคือความชัดเจนเรื่อง "วันเลือกตั้ง"นั้นจะมีขึ้นเมื่อใด ? เพราะเหนืออื่นใด เมื่อนักการเมืองมองเห็นวันเลือกตั้งที่ชัดเจนย่อมนำมาซึ่งความเชื่อมั่น และมั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป พร้อมกันนี้ "ข่าวลือ"ข่าวปล่อยที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ว่าคสช. คิดที่จะ "สืบทอดอำนาจ" ด้วยรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะเบาบาง และหมดน้ำหนักลงไป สามารถทำให้พรรคการเมืองอีกหลายต่อหลายพรรค ติดสินใจได้ว่าจากนี้ไป จะวางบทบาทและ "แผนการเล่น" ของตัวเองกันอย่างไร อย่างไรก็ดี สำหรับสองพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง "เพื่อไทย" และ"ประชาธิปัตย์" เองนั้น ดูเหมือนว่าจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใด และไม่ว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ ตลอดจนกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับจะออกมาอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าสองพรรคใหญ่ นั้นต่างเป็นทั้ง "คู่ขัดแย้ง" และ "ตัวแปร"ทางการเมือง ที่มีส่วนนำไปสู่ความขัดแย้งด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้ง ข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลเอง ส่งเทียบเชิญไปยัง "ทุกพรรคการเมือง" นั้นแท้จริงแล้วจะเกิดประโยชน์หรือไม่เนื่องจาก ตัวแปรและเงื่อนไขหลักนั้นอยู่ที่ ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ว่าจะขานรับการสร้างความปรองดองหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ? ในระหว่างที่กระบวนการขั้นตอนสร้างความปรองดอง ด้วยกลไกต่างๆ ได้เริ่มดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและคึกคัก ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กลับพบว่าบรรดาข้อเสนอแนะจากพรรคการเมือง ยังเป็นสิ่งที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพียงแต่ "รับฟัง" แต่ยังไม่มีการ "ตัดสินใจ" ว่าจะให้ไฟเขียว หรือ "สนอง"ในสิ่งที่ถูกร้องขอมาแต่อย่างใด มิหนำซ้ำในรายของพรรคเพื่อไทยเอง กลับเหมือนยิ่งตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก อยู่ไม่น้อย เมื่อบรรดาแกนนำหลักล้วนแล้วแต่เผชิญหน้ากับ"คดีจำนำข้าว"กันอย่างเคร่งเครียด ไม่ว่าจะเป็น "บุญทรง เตริยาภิรมย์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำลังเข้าสู่กระบวนการถูกยึดทรัพย์ แม้เจ้าตัวจะประกาศขอดิ้นสู้อีกเฮือก และอีกทั้งยังกลายเป็นว่า"คดีแบงก์ กรุงไทย"ที่มี "พานทองแท้ ชินวัตร" บุตรชาย "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวว่า ในคดีดังกล่าว ได้เริ่มงวดเข้ามาเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ได้หยิบคดีมาพิจารณา สถานการณ์เช่นนี้สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ต่างเป็นแรงกดดันต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกแสดงปฏิกิริยาต่อการปรองดองออกมาในรูปแบบใด !