ในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาร้ายแรงของมนุษยชาติคือปัญหาอาหารและปัญหาพลังงานประเทศไทยด้านหนึ่งนับว่าโชคดี ที่มีทรัพยากรธรรมชาติเอื้อต่อการผลิตอาหารและพลังงานทางเลือก แต่อีกด้านหนึ่งก็นับว่าโชคร้าย ที่ขาดยุทธศาสตร์ที่ดี ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประชาชน คือแทนที่จะรับใช้ประชาชนกลับมุ่งรับใช้ “ทุน” ยุทธศาสตร์พลังงานเป็นเรื่องใหญ่ ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องนั้น เราเชื่อว่ามีผู้รู้สามารถวางแผนได้ แต่เมื่อจะนำยุทธศาสตร์มาปฏิบัติ ก็จำเป็นต้องปรับปฏิรูปสังคมกันใหม่กันขนานใหญ่ ทุก ๆ รัฐบาลจึงปรับปฏิรูปไม่สำเร็จ นั่นอาจจะเนื่องจากปัญหาพลังงานเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาล และเกี่ยวพันโดยตรงกับค่าครองชีพของประชาชนทั้งหมด สำหรับปัญหาพลังงานนั้น ในสังคมไทยมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันมาก และจะเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนหลายกลุ่ม ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ทางด้านรัฐ รัฐไทยไม่ว่ารัฐบาลใด ก็จะเลือกแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของ “อภิทุนข้ามชาติ” พูดตรง ๆ คือ ไม่มีทางจะต้านทานมหาอำนาจอภิทุนได้ทางด้านภาคประชาชนก็จะมีกลุ่มที่ต่อสู้ กดดัน เรียกร้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สังคมไทยจะจัดการความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร ? เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันแก้ เราเห็นว่า ยังมีทางสายกลางให้เดิน คือมาช่วยกันคิดหายุทธศาสตร์ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาพลังงาน นั่นคือ “ยุทธศาสตร์พลังงานพอเพียง”เราต้องช่วยกันค้นหา “ยุทธศาสตร์พลังงานพอเพียง” ตามหลักการของ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง” เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” มีความก้าวหน้าได้กว้างและลึกขึ้นเรื่อย ๆ ทางด้านการผลิตอาหาร แต่สำหรับทางด้าน “พลังงาน” แล้ว ยังนับว่าอยู่ในระดับศูนย์ ปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้คือ เรื่องอาหารกับพลังงาน ดังนั้นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง จะต้องขยายเนื้อหาให้ครอบคลุมเรื่องพลังงานด้วยเนื้อหาของยุทธศาสตร์พลังงานพอเพียงกว้างมาก มันมิใช่แค่เพียงการรณรงค์ให้ประหยัดไฟฟ้า แต่จะต้องครอบคลุมตั้งแต่ ปัญหาแหล่งพลังงาน ปัญหาการผลิตพลังงานให้ไทยพึ่งตนเองได้ ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน จิตสำนึกในการเลือกใช้พลังงาน ฯลฯ ปัญหาแหล่งพลังงานก็เช่น เราควรส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทางเลือก ที่ผลิตได้เองไม่มีหมดสิ้น คือผลิตได้จากผืนดิน จากเกษตรกรรม จากพลังงานธรรมชาติ เป็นต้น จะเลือกส่งเสริมการผลิตแบบใด ก็ต้องเลือกแนวทางที่ประเทศไทยจะสามารถพึ่งตนเองจากพลังงานเหล่านั้นได้ สำหรับโครงสร้างราคาพลังงาน ก็ต้องทำให้คนชั้นล่างไม่เดือดร้อน “ยุทธศาสตร์พลังงานพอเพียง” ควรมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ? จะพัฒนาสร้างสรรค์กันอย่างไร ? จะทำอย่างไรให้รัฐไทยรับเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ?