ถ้า "7พรรคฝ่ายค้าน" ประเมินว่า "ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ตามมาตรา152 จะสามารถ "น็อค" คนที่ชื่อ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยประเด็นอันเปราะบาง กรณี"ถวายสัตย์ปฏิญาณ" โดยที่ไม่ต้องสะดุดกับ "อุปสรรค" นั้นเห็นทีจะเป็นเรื่องยาก เพราะใช่ว่า "ญัตติ" ที่ "7พรรคฝ่ายค้าน" พากันเข้าชื่อแล้วนำไปยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 125 นั้นจะผ่านฉลุยเข้าไปสู่สภาฯ อยู่ในระเบียบวาระประชุม ชนิดที่รวดเร็วทันใจ โดยไม่ติดขัด ก็คงไม่ถูกนัก หากสดับรับฟังในสิ่งที่เป็นเสมือน "สัญญาณ" ที่ ฝ่ายค้านต้องกลับไปทบทวนให้ดีว่า กว่าจะถึงวันที่ได้อภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเผ็ดร้อนในสภาผู้แทนฯนั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ? จะมีขึ้นก่อนหรือหลัง การพิจารณาจาก "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ที่รับคำร้องที่มีผู้ไปยื่นเรื่องเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำเข้าสู่การพิจารณาได้ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ก่อนที่จะมีมติว่าจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาดหรือไม่ ต่อไป การออกมาให้สัมภาษณ์ของ "ศุภชัย โพธิ์สุ" รองประธานสภาฯ คนที่2 ล่าสุดต้องถือว่าน่าสนใจ เพราะเสมือนการสะท้อนให้เห็นบางสิ่งบางอย่างสำหรับ 7พรรคฝ่ายค้านว่า "ไม่ง่าย" เสียแล้ว " หากญัตติมีองค์ประชุมครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ก็บรรจุได้ทันที แต่หากพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายกฏหมายแล้ว ยังมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์เพื่อไม่ให้มีการติฉินนินทาก็ต้องปรึกษาหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รวมไปถึงนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ระดมสมองกันเต็มที่ แต่ถ้าผลออกมาเป็นญัตติที่ไม่ครบถ้วนจริงๆ ก็ต้องแจ้งเหตุผลกลับไปยัง ส.ส.ฝ่ายค้าน ในฐานะผู้เสนอญัตติให้นำกลับไปแก้ไขต่อไป ส่วนเมื่อบรรจุระเบียบวาระแล้ว จะกำหนดให้วันประชุมได้เมื่อไหร่นั้น ก็ต้องประสานสอบถามไปยังรัฐบาลด้วยว่าจะสะดวกมาชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปได้เมื่อไหร่โดยสภาฯจะยึดเอาความพร้อมของทุกฝ่ายประกอบด้วย" (17ส.ค.2562) หมายความว่า ญัตติของงฝ่ายค้านที่ยื่นมานั้น ใช่ว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระโดยไม่ต้องตรวจสอบ และหากตรวจสอบแล้วพบ "ความไม่ถูกต้อง" อันจะเกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ญัตติดังกล่าวก็มีอันต้องถูก "ตีกลับ"เพื่อให้กลับไปแก้ไขแล้วส่งกลับมาใหม่ ส่วนจะกำหนดวันประชุมได้เมื่อใด ก็ต้องผ่านการประสานไปยัง "รัฐบาล" ก็คือ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่าพร้อมจะมาชี้แจงเมื่อใด ยิ่งตีความระหว่างบรรทัด ยิ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องอดทนรอคอย ที่จะได้ใช้โอกาส "เขย่า" พล.อ.ประยุทธ์ กลางสภาฯ ด้วยมาตรา 152 หลังจากที่ได้มองเห็นแล้วว่า นายกฯที่มาจาก "นายทหาร" ผู้นี้ ยังไม่ใช่ "ฝ่ายรุก" ในเกมเวทีสภาฯ