ทีมข่าวคิดลึก โปรแกรมนัดถกตัวแทนพรรคการเมือง เริ่มขยับเข้าสู่โหมดของการปรองดอง เมื่อพรรคการเมืองที่ได้รับเทียบเชิญได้ทยอยเข้าพูดคุยหารือกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี "บิ๊กช้าง" พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม เป็นประธาน โดยเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศทางการเมืองวันนี้จึงกลับมาคึกคักและเข้มข้นอีกครั้ง ! หลังจากที่พรรคความหวังใหม่ประเดิม คิวแรกเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ไปแล้วคิวต่อมาคือพรรคขนาดกลางทั้งพรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนาก่อนที่จะตามมาด้วย ประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคเพื่อไทยยังคงรอรับบัตรคิว พร้อมทั้งมีแกนนำของทั้งพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงออกมาระบุว่า หากเชิญมาก็พร้อมที่จะไป ดังนั้นทำให้สังคมที่อยู่นอกวง ต่างอดที่จะส่งใจไปเชียร์ ไปลุ้นไม่ให้เกิดความขัดแย้งจน "วงแตก" กันไปเสียก่อน โดยเฉพาะ มีข้อแนะนำว่าการเจรจาในเวทีปรองดอง ครั้งนี้นอกเหนือ ไปจากการที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่มีบิ๊กช้างนั่งคุมเกมอยู่หัวโต๊ะจะใช้วิธีแยก ไม่ให้ "คู่ขัดแย้ง" ต้องมาเผชิญหน้ากันแล้ว ยังมีบางฝ่ายระบุว่าไม่อยากให้มีการโยน "เผือกร้อน" ลงมากลางวง ไม่เช่นนั้นจะทำให้สถานการณ์แย่ไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ว่าด้วย ชายชุดดำ, คดี 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุถึงทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเหมือนกับ "ชนวนร้อน" จะยิ่งทำให้แนวทางสร้างความปรองดองมีแต่จะติดหล่ม ก่อนบรรลุเป้าหมาย เวลานี้หลายต่อหลายคนเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างความปรองดอง นั้นอาจทำได้แค่เพียงการทำข้อตกลง "สงบศึก" ก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว คสช.และรัฐบาลจะไม่ยอมเปิดทางให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อย่างแน่นอน คสช.ย่อมไม่ต้องการเสี่ยงกับสถานการณ์ที่จะเกิดความวุ่นวายที่รออยู่เบื้องหน้า หาก "ผู้แพ้" ไม่ยอมรับ"ผู้ชนะ" เพราะนั่นจะกลายเป็นการ"บีบ" ให้ คสช. ต้องกลับไปเล่นบทบาทเดิมอีกรอบ แน่นอนว่าหาก คสช. ทำเช่นนั้น "แรงกดดัน" จากในและนานาประเทศ จะพุ่งเข้าใส่ คสช. อีกระลอกอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คสช.เองได้วางกลไก ในการ "กุมอำนาจ"เอาไว้ในแทบทุกทางอยู่แล้ว ทั้งการมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง หรือแม้กระทั่งการวางตัว "250 ส.ว." ซึ่งเป็นเสมือนฐานอำนาจให้กับ คสช. ขอเพียงแค่ทุกอย่างเดินหน้าไปบนสถานการณ์ที่สงบ และราบรื่นที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างง่ายต่อการคอนโทรลเท่านั้น การดึงตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองเข้ามาหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งปัญหาและหาทางออกร่วมกันนั้น ถือเป็นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกในเบื้องต้น รวมทั้งการไม่เปิดประตูให้เกิดการเผชิญหน้ากันเอง ระหว่างขั้วการเมือง อาจเป็นการส่งสัญญาณจาก คสช. ไปยังฝ่ายการเมืองว่าวันนี้ยังให้โอกาสในการเลือกเดินหน้า ตามแนวทางที่ คสช. มาร์กจุดเอาไว้ให้ แต่หากยังมีรายการ "แตกแถว"ก็จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า "วงแตก" กันไปเสียก่อน และจะส่งผลกระทบต่อภารกิจการสร้างความปรองดองของ คสช. และรัฐบาลที่ไม่อาจ ทำให้การปรองดองเกิดขึ้นได้ก่อนการเลือกตั้ง ทว่า หากมองในอีกด้านหนึ่ง หากเกิดปัญหา "วงแตก" กันเสียก่อน นั่นหมายความว่าพรรคการเมืองอาจยิ่งห่างไกลสนามเลือกตั้งกันออกไปทุกที !