กลายเป็นเกมที่ "7 พรรคฝ่ายค้าน" ยังเป็นฝ่าย "กุมความได้เปรียบ" อย่างเห็นได้ชัด และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการที่จนป่านนี้ "ปีกรัฐบาล" ยังไม่สามารถหาทาง "แก้เกม" พลิกสถานการณ์กลับมาได้อีกต่างหาก !
ขณะที่ "พรรคร่วมรัฐบาล" ต่างพยายามเร่ง "สร้างผลงาน" ด้วย "รัฐมนตรี" ในแต่ละกระทรวง พากันหยิบจับปัญหาร้อนๆ ขึ้นมาคลี่คลาย เพื่อหวังว่านี่คือ "ผลงาน" ที่จะมาพร้อมโอกาส ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงยุติธรรม ที่มี "สมศักดิ์ เทพสุทิน" เป็นเจ้ากระทรวง ก็เข้ามาเจอ "เผือกร้อน" กรณีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ "คดีแพรวา 9ศพ" ซึ่วันนี้ญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิต จากคดีแพรวา ต่างทยอยเข้ารับเงินเยียวยา
หรือแม้แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ที่มี "วราวุธ ศิลปอาชา" จากพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นเจ้ากระทรวง ก็กำลังพิสูจน์ฝีมือด้วยกรณี " 88 การ์มองเต้" ที่มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน ไปจนถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
แต่ปรากฎว่า ผู้นำรัฐบาลอย่าง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำลังเจอกับ "ศึกในสภาฯ"กันตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อ "7พรรคฝ่ายค้าน" หยิบปมเรื่องการถวายสัตย์ฯ ของนายกฯไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด ใช้เป็นวาระขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีการลงมติ ตามม.152 โดยนัดหมายเข้ายื่นญัตติต่อ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (16 ส.ค.) เวลา 08.30 น.
แน่นอนว่าการรุกรัฐบาลด้วยการใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯด้วยปมถวายสัตย์ ฯ นั้นสำหรับฝ่ายค้านแล้วย่อมประเมินและมองเห็น "ข้อได้เปรียบ" ว่าจะสามารถดึงพล.อ.ประยุทธ์ มาถล่มกลางสภาฯได้อีกรอบ หลังจากที่เกิดความเชื่อมั่นในการอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาล
และความเชื่อมั่นของพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศย้ำอยู่หลายต่อหลายครั้งว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงการนำประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ฯ มากดดันพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ไม่มีเจตนาที่จะ "ล้มรัฐบาล" หรือ ต้องการพาดพิงไปถึงสถาบันแต่อย่างใดก็ตาม
แต่ถึงกระนั้น กลับน่าสนใจว่า ขณะที่ฝ่ายค้านใช้ประเด็นที่มีความเปราะบางว่าด้วยเรื่องการถวายสัตย์ฯ ขึ้นมาครั้งนี้ด้วยท่าทีคึกคัก แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ กลับอยู่ในความเงียบงัน จนน่าสังเกต แม้ก่อนหน้านี้จะบอกกับสื่อแล้วว่า เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตามที
ล่าสุด "พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์" ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ตรวจได้มีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงก็เป็นหลักการ ทั้งนี้คาดว่าในการประชุม27 ส.ค.นี้ คงได้มีการพิจารณาคำร้องดังกล่าว
ความหวังของ7พรรคฝ่ายค้านที่รวบรวมเสียง246 เสียงเข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ หรือกว่าจะไปถึงการบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการพิจารณา นั้นอาจมีรายการ "บิ๊กเซอร์ไพรซ์"เกิดขึ้นเสียก่อน มีแต่ต้องลุ้นกันทุกทาง !?