สถาพร ศรีสัจจัง
ในขณะความร้อนแรงเรื่อง “การปรองดองแห่งชาติ” ที่มีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวเรือใหญ่ กำลังคุโชนขึ้นเรื่อยๆ องค์ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบทศวรรษของสังคมไทยเริ่ม “สำแดง” ท่าทีของแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่มแต่ละพวกชัดเจนกันยิ่งขึ้น ว่าจะขวางจะขัดหรือจะปลื้ม ประกอบด้วยทั้งเสียงฮึ่ม เสียงโห่ไล่ให้ลงจากเวที และเสียงเชียร์เสียงขานรับ
ท่ามกลางความขัดแย้งที่เริ่มร้อนฉ่าดังกล่าว พลันเหมือนมีสายฝนหลงฤดูเย็นฉ่ำห่าใหญ่ประทานลงจากฟ้า เทกระหน่ำสาดใส่มวลความร้อนห่อใหญ่นั้นให้ดับซาลงได้บ้างนั่นคือข่าวการสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์แห่งวัดราชบพิตรฯขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นปัญหาคาสังคมไทย-คาใจประชาราษฎร์มาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุพื้นฐานแห่งความขัดแย้งทางสังคม และทางผลประโยชน์ทางการเมืองในห้วงเวลาที่พ้นผ่าน จึงเหมือนได้รับการถอดสลักระเบิด!
ความขัดแย้งที่เนื่องเกี่ยวโดยตรงกับความขัดแย้งทางโลกซึ่งเกิดจากความมั่วเน่าของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยในอดีต ที่ใช้ทุกสิ่งเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงประโยชน์แก่กลุ่มตน แน่ละ-แน่นอนว่าในนั้นย่อมมีศาสนาพุทธซึ่งมีฐานะเหมือน “ศาสนาประจำชาติ” ที่รวม “ศรัทธา” ที่เป็นเอกภาพที่สุดของสังคมไทยเอาไว้เป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งด้วย
องค์กรกลางทางศาสนาจึงถูก “การเมือง” แทรกแซงทั้งแบบลึกลับและโจ่งครึ่มมาโดยตลอด องค์กรเชิงผลประโยชน์ใหม่ๆจึงถูกจัดตั้งขึ้นในนามของ “กลุ่มศรัทธาทางศาสนา” มาโดยตลอด มีทั้งที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงจนทรงอิทธิพลทางสังคมอย่างที่รู้ๆเห็นๆกันอยู่ !เป็น “สิ่งที่เห็นจริงแล้ว” เรื่องหนึ่งว่า ในกระบวนความขัดแย้งใหญ่ทางสังคมระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆของสังคมไทย ซึ่งสำแดงออกมาในช่วงทศวรรษหลังสุด ที่รุนแรงจนทำให้ “กลุ่มกองกำลังจัดตั้งติดอาวุธ” ที่เรียกว่า “ทหาร” สามารถนำไปเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐได้อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ข้ออ้างว่าด้วย “เพื่อเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งและเพื่อปฏิรูปแก้ไขความเน่าเหม็นฉ้อฉลของนักการเมือง” นั้น มีเรื่องความขัดแย้งในวงการสงฆ์เป็นเรื่องสำคัญสุดอยู่เรื่องหนึ่งด้วย
และเพราะความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ! กระทั่ง “สนช.ของรัฐบาล” ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับวงการสงฆ์บางฉบับแบบ “3 วาระรวด” ได้สำเร็จสมประสงค์ แบบที่ถ้ายุคก่อนก็ต้องเรียกว่า “รวดเร็วเหมือนกามนิตหนุ่ม” ยังไงก็ยังงั้น
และอาจเป็นเพราะเหตุมงคลแห่งการเริ่มต้นของปีพุทธศักราช 2560 ที่ประเทศไทยเพิ่งมีองค์เอกอัครศาสนูปถัมพกพระองค์ใหม่ คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นเหตุสำคัญ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็มก็เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงกระบวนการแก้ความขัดแย้งใหญ่เรื่องนี้
พุทธศาสนิกชาวไทยจึงได้ปราบปลื้มสาธุการกันอย่างถ้วนทั่วในพระนามแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยพระประวัติที่สะอาดใสด้วยธรรมะทั้งในแง่ปริยัติและปฏิบัติ ทั้งฝ่ายอรัญวาสีและคามวาสี คือองค์สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ แห่งวัดราชบพิตรสถิตย์มหาสีมาราม ศิษย์รูปสำคัญรูปหนึ่งของ “พระป่า” ผู้งดงามในจริยวัตรอย่างพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รูปนั้น !
อยากบอกท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนราษฎรไทยที่ต้องอยู่ระหว่าง “เขาควายแห่งความขัดแย้ง” มายาวนานว่า นี่แหละคือ “นิมิตมงคล” ของการเริ่มต้นในสิ่งที่เรียกว่า “ความปรองดองแห่งชาติ” ที่สำคัญที่สุด!!!!!!