นับเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทยในการปลดล็อกกัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ โดยล่าสุดในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้แก่บุคลากรและความคิดเห็นถึงการใช้ยากัญชาอย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ประชาชนที่เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ยากัญชาจะได้รับความปลอดภัย เป็นการระดมความคิดเห็น ดูแนวทางปฎิบัติ ซักซ้อมความเข้าใจ เพื่อรองรับการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ที่มีแผนเริ่มเปิดบริการในโรงพยาบาลวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.นี้ ทั้งนี้มีธีมอบสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซีสูงให้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 แห่ง เพื่อนำไปใช้บริการคนไข้ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลลำปาง 2.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.โรงพยาบาลสระบุรี 5.โรงพยาบาลราชบุรี 6.โรงพยาบาลระยอง 7.โรงพยาบาลขอนแก่น 8.โรงพยาบาลอุดรธานี 9.โรงพยาบาลบุรีรัมย์ 10.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี 11.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และ 12.โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา สำหรับโรงพยาบาลที่จัดบริการการแพทย์แผนไทย ได้แก่ 1.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 2.โรงพยาบาลหนองฉาง จ.อุทัยธานี 3.โรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐม 4.โรงพยาบาลเด่นชัย จ.แพร่ 5.โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร 6.โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ 7.โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี โดยนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ากัญชามีอยู่ 3 แบบ คือ 1.สารสกัดกัญชาทางแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีสูตรทีเอชซี ซีบีดี และสูตรหนึ่งต่อหนึ่ง 2.น้ำมันกัญชาที่สกัดจากน้ำมันมะพร้าว และ 3.ยาแพทย์แผนไทยที่เห็นชอบแล้ว 16 ตำรับ ทั้งนี้การให้บริการกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ 19 โรงพยาบาล แบ่งเป็น โรงพยาบาลศูนย์ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน 13 แห่ง และโรงพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง โดย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้บริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย “โดยในวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.นี้ จะเริ่มเปิดบริการ ซึ่งจะเริ่มจากสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซีที่ กระทรวงสาธารณสุขรับมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 4,500 ขวด โดยแบ่งให้กรมการแพทย์ 600 ขวด และโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง แห่งละประมาณ 350 ขวดก่อน ตรงนี้ถือเป็นเสรีทางการแพทย์ โดยย้ำว่าต้องเป็นผู้ป่วยมารับและมีความจำเป็น ใช้ยารักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว โดยจะมีแพทย์ตรวจตามมาตรฐาน ซึ่งแพทย์และเภสัชกรที่จะดูแลเรื่องนี้ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์ ซึ่งไม่มีการเสียเงินใดๆ” พร้อมกันนี้ ยังเปิดบริการสายด่วยให้คำปรึกษากัญชา 1665 มีการเปิดให้บริการทั้ง 12 เขตสุขภาพ และโรงพยาบาลสังกัดกรมฯ 31 แห่งด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะเห้นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่การให้ความรู้แก่ประชาชน ในการใช้กัญชาที่ต้องอยู่ในการพิจารณาและสั่งจ่ายโดยแพทย์ และกัญชาไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาได้ทุกโรค และยังมีผลข้างเคียงที่พึงระวังก็จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนให้ควบคู่กันไป