รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เวลาแม้จะผ่านไปร่วมอาทิตย์แต่ความรู้สึกอกสั่นขวัญผวาจากเหตุการณ์จากเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจและท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมือง ส่งผลให้มีความวิตกกังวล และทำให้ประชาชนต้องการให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเร่งดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เฝ้าระวังสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนหลายฝ่ายมองว่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง
ดังนั้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,220 คน สรุปผลได้ ในประเด็น ประชาชนคิดอย่างไร? กับ เหตุการณ์ระเบิด สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนคิดอย่างไร? กับ เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ40.60 คือ รู้สึกไม่ปลอดภัย กลัว วิตกกังวล เกรงว่าจะได้รับอันตราย รองลงมา ได้แก่ มีผู้ไม่หวังดี อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย เป็นการกระทำที่อุกอาจ ร้อยละ38.03 น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ถูกเชื่อมโยงเรื่องการนำมาตรา 44 ออกมาใช้ ร้อยละ23.02 อยากรู้ข้อเท็จจริงถึงสาเหตุและผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ควรชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ร้อยละ18.60 และรัฐบาลต้องเร่งจับกุมผู้กระทำผิดโดยเร็ว มีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ร้อยละ13.77
ประชาชนคิดว่า “สาเหตุ” ของการวางระเบิด คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ52.49 คือ ต้องการสร้างสถานการณ์ให้บ้านเมืองวุ่นวาย ปั่นป่วน รองลงมา ได้แก่ มาจากความขัดแย้ง เสียประโยชน์ทางการเมือง ร้อยละ36.77 เป็นการขู่เตือนรัฐบาล ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล ร้อยละ21.04 น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในภาคใต้ ร้อยละ16.16 และยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง คาดการณ์ไม่ได้ ร้อยละ11.61
จากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอะไรบ้าง? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 34.57 คือ สร้างความหวาดกลัว วิตกกังวลให้กับประชาชน รองลงมา ได้แก่ ภาพลักษณ์ของไทยแย่ลง ต่างชาติไม่มั่นใจ ร้อยละ 23.74 ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาล ร้อยละ21.16 และทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น ร้อยละ10.32
ประชาชนคิดว่าควรมีวิธีป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ45.64 คือ ประชาชนต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ช่วยเป็นหูเป็นตา สิ่งที่ไม่ชอบมาพากล รองลงมา ได้แก่ เร่งหาตัวคนร้ายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว ร้อยละ25.40 เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั่วทุกพื้นที่ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ21.47 หน่วยข่าวกรองต้องสืบหาข้อเท็จจริง และมีการข่าวที่แม่นยำ ร้อยละ19.02 และมีการตั้งรางวัลให้แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลของผู้ที่กระทำผิด ร้อยละ15.83
ประชาชนคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 86.13 คือ เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะต้องการทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย สร้างสถานการณ์ มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ท้าทายอำนาจกฎหมาย ฯลฯ
รองลงมา ได้แก่ ไม่เกี่ยวข้อง ร้อยละ13.87 เพราะอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว เรื่องธุรกิจ ผลประโยชน์ ไม่ทราบข้อมูล สาเหตุที่แท้จริง ฯลฯ
เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่?พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 76.39 คือ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล ทำให้เชื่อมั่นน้อยลง เพราะประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำงาน การป้องกันหละหลวม กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล เชื่อมั่นเหมือนเดิม ร้อยละ 23.61 เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาได้ มีการสั่งการเร่งติดตามดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ฯลฯ
ประชาชนคิดว่าจะมีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นอีกหรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 83.93 คือ น่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีหรือมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวาย เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั้งหมด ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ ไม่น่าจะเกิดขึ้น ร้อยละ 16.07 เพราะ น่าจะเป็นเพียงการสร้างกระแสให้คนตื่นตกใจ ต้องการสร้างความวุ่นวายเพียงชั่วคราว เจ้าหน้าที่เพิ่มการตรวจตรามากขึ้น ฯลฯ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นของประชาชนกรณีระเบิดใน กทม. ซึ่งหากพิจารณาจาก ผลสำรวจที่สะท้อนความคิดเห็นมาจากประชาชนแล้วก็คงต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความรู้สึกของคนในสังคม โดยเฉพาะในมิติความหวาดวิตกในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องรีบดำเนินการคงหนีไม่พ้นการจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้ อย่างเร่งด่วน 9ลอดจนกวดขันดูแลพื้นที่ต่างๆ อย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากจะ “ฟังธง” ว่าเหตุ “ระเบิด” ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใด? เกิดจากการก่อกวนสร้างความวุ่นวาย หรือเป็นเกมการเมือง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องฉุกคิด หากไทยต้องเผชิญ “การวางระเบิด” (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า)..!! เจ้าหน้าที่รัฐจะเอาอยู่หรือไม่?
จะเอาอยู่ไม่เอาอยู่เรื่องนี้ ก็คงต้องดูกันยาวยาว..!!