ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง กระทรวงการคลังได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ ตามโครงสร้างจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย 1.นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง 2.นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 3.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 4.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อร่วมกันทำงานปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดให้นโยบายการเงินการคลังไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าการตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวยังไม่ยุติ โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษา ซึ่งต้องเร่งทำ เพราะความผันผวนเกิดขึ้นเร็ว ทั้งนี้การทำงานของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะไม่มีการแทรกแซงการทำงานขององค์กรที่มีอยู่แล้ว โดยความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในขณะนี้ กระทบหลายจุด ฉะนั้น กลไกหารือ หรือใครทำหน้าที่ใดก็ทำต่อไป โดยอำนาจที่มีอยู่เดิมของใครก็เป็นขององค์กรนั้น และการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมีตัวอย่าง ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป กระนั้น เราเห็นว่าแนวทางการตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี ในการนำกลไกต่างๆเข้ามาเพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายอุตตม ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างจัดทำคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ และเสนอเข้าที่ประชุมครม.เศรษฐกิจพิจารณา โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะประชุมนัดแรกวันที่ 19 สิงหาคม 2562 นี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังร่วมประชุมกับนาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายปีนี้ เพื่อเร่งการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาโดยเร็ว นายอุตตม ยังระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่รุนแรงขึ้น หวั่นจะกระทบต่อการส่งออกไทย นโยบายอ่อนค่าเงินหยวนของจีน กระแสเงินทุนไหลเข้า หลายปัจจัยส่งผลต่อค่าเงินบาทไทยแข็งค่า หลังจากการตั้ง ครม.ล่าช้ามานานจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 24 แห่ง ที่มีวงเงินลงทุนสูง เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงท้ายปีนี้และเร่งแก้อุปสรรครัฐวิสาหกิจในการเบิกจ่ายงบลงทุน โดยต้องการให้เม็ดเงินอีก 1.7 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมพร้อมจะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคระหว่างกระทรวง หรือระหว่างหน่วยงาน และอื่น ๆ รวมถึงพร้อมสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจทำโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย อย่างเช่น การลงทุนท่อร้อยสายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซีเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ของกลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม คือ บมจ. กสท โทรคมนาคม, บมจ. ทีโอที และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย นอกจากนี้ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดทำแผนการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้นและได้กำชับให้ สคร.ประสานกับรัฐวิสาหกิจ ดูว่ามีอะไรที่ติดขัด ต้องเร่งแก้ไขและลดอุปสรรคต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เราจำเป็นจะต้องช่วยกันเร่งรัดการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้าได้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี หากผลักดันแนวทางการตั้งคณะกรรมการฯให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว รวมทั้งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงจุด และเหมาะสมกับสถานการณ์ เราคาดหวังว่าจะสามารถพยุงสถานการณ์ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้