ทองแถม นาถจำนง เล่าปี่ ชาวอำเภอตุ้น (จัวเสี้ยน ) เมืองตุ้นก้วน (ปัจจุบันคืออำเภอจัวเสี้ยน มณฑลเหอเป่ย) เป็นเชื้อพระวงศ์ปลายแถวของราชวงศ์ฮั่น เมื่อคราวเกิดกบฏผ้าเหลือง เล่าปี่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้า ชื่อ เตียวสิเผง (จางสื้อผิง) และ เล่าสง (ซูซวง) จึงจัดตั้งกองกำลังอาวุธได้กองหนึ่ง เข้าร่วมกับทางราชการปราบกบฏผ้าเหลือง ในระหว่างสงครามจลาจลระหว่างขุนศึก เขายังไม่มีฐานที่มั่นเป็นหลักเป็นแหล่ง ในระหว่างศึกกัวต๋อ เล่าปี่พึ่งพาอาศัยอยู่กับอ้วนเสี้ยว ครั้นอ้วนเสี้ยวพ่ายแพ้ เล่าปี่จึงหลบไปอาศัยอยู่กับเล่าเปียว ในขณะนั้น จูกัดเหลียง (จูเก๋อเลี่ยง) พักซุ่มอาศัยอยู่ที่ หลงตง (หลงจง – ปัจจุบันอยู่ห่างจากเมืองซงหยง มณฑลหูเป่ย ไปทางตะวันตก 10 กิโลเมตร) เล่าปี่ไปเชื้อเชิญถึงสามครั้ง จูกัดเหลียงจึงยอมออกมาช่วยเล่าปี่ทำการศึก จูกัดเหลียงวิเคราะห์สถานการณ์ให้เล่าปี่ฟังว่า โจโฉครองแผ่นดินกว้างขวางมีกำลังพลมากมาย “ อ้างราชโองการสั่งขุนศึกได้ จึงไม่ควรที่จะเข้าปะทะ” ซุนกวน (ซุนเฉวียน)อยู่กังตั๋ง (เจียงตง) “มีภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี ราษฎรก็อ่อนน้อม รู้จักใช้ผู้ปรีชาสามารถ จึงควรเป็นมิตรช่วยกัน ไม่ควรทำศึกด้วย” ส่วนเล่าเปียวนั้นไร้ความสามารถ เล่าเจี้องโง่เขลาอ่อนแอ จึงควรยึดเก้งจิ๋วและเอ็กจิ๋ว(เสฉวน)ไว้เป็นฐานที่มั่น จากนั้นจึง “ร่วมมือกับเผ่าตี๋ทางตะวันออก เกลี้ยกล่อมเผ่าอี๋เผ่าเยวี่ยทางภาคใต้ ภายนอกเป็นพันธมิตรกับซุนกวน ภายในปรับปรุงการปกครอง” กระทั่งมีสถานการณ์เหมาะสม จึงยกทัพบุกภาคเหนือสองทาง ทางหนึ่งยกจากเกงจิ๋ว อีกทางหนึ่งยกจากเอ็กจิ๋ว กระหนาบตีแคว้นเว่ยของโจโฉ รวมแผ่นดินเป็นเอกภาพได้ จูกัดเหลียงวิเคราะห์สถานการณ์ ว่าพิภพ(ใต้ฟ้า)จะแบ่งแยกอำนาจเป็นสามส่วนสามภาค เสนอแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องอันอาจสร้างให้เล่าปี่ประสบความสำเร็จได้ เล่าปี่ได้รับฟังแล้วดีใจมาก ได้จูกัดเหลียงมาช่วยเหมือนกับปลาได้น้ำ จูกัดเหลียงแนะนำให้เล่าปี่เกลี้ยกล่อมเล่าเปียวจนเล่าเปียวยินยอมให้เล่าปี่สำรวจสำมะโนครัวเรือนในเกงจิ๋วใหม่ ทำให้เล่าปี่สามารถขยายกองกำลังตั้งเป็นกองทัพเป็นรูปเป็นร่างจริงจังขึ้นมาได้ ฝ่ายกองทัพของโจโฉยังมิทันยกไปถึงเกงจิ๋ว เล่าเปียวก็ป่วยตายเสียก่อน เล่าจ๋อง (หลิวจ้ง) บุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวได้สืบทอดตำแหน่ง ขณะนั้นเล่าปี่ตั้งทัพอยู่ที่เมืองอ้วนเซีย (ฝานเฉิง – ปัจจุบันคือเมืองซงฝาน มณฑลหูเป่ย) พอได้ทราบข่าวก็รีบถอยทัพไปทางเมืองกังเหลง (เจียงหลิง) โจโฉนำพากองทัพม้าเร่งรีบติดตามตีทัพเล่าปี่ โจมตีกองทัพเล่าปี่แตกยับเยินที่เนินเขาเตียงปัน (ฉางป่านปอ – ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอตังหยาง มณฑลหูเป่ย) เล่าปี่จำต้องเปลี่ยนแผนเดิมที่จะหลบไปอยู่กังเหลง หนีมุ่งไปทางแฮเค้า (เซี่ยโข่ว ปัจจุบันคือเมืองฮั่นโข่ว มณฑลหูเป่ย) แล้วเข้าพำนักในเมืองอ้วนโข่ว (ฝานโข่ว) ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเอ้อเฉิง มณฑลหูเป่ย) เพื่อสานสัมพันธ์ร่วมกันต่อต้านโจโฉ เล่าปี่ได้ส่งจูกัดเหลียงเดินทางไปไฉซาง (ปัจจุบันคือด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองจิ่วเจียง มณฑลเจียงซี)เพื่อเข้าพบซุนกวน ศึกเซ็กเพ็ก ซุนกวน ชาวอำเภอฟู่ชุน (ปัจจุบันคืออำเภอฟู่หยาง มณฑลเจ้อเจียง) เป็นบุตรชาวของซุนเกี๋ยน ซุนเกี๋ยนเคยเข้าร่วมกับกองทัพของจูฮีปราบปรามกบผ้าเหลือง จนได้รับตำแหน่งข้าหลวง—ไท่โส่ว เมืองเตียงสา (เมืองฉางซา) ในระหว่างสงครามจลาจลระหว่างขุนศึก ซุนเกี๋ยนเป็นสมัครพรรคพวกของอ้วนสุด ภายหลังถูกหองจอ (หวงจู่) นายทหารของเล่าเปียวฆ่าตาย ซุนเซ็ก-บุตรชายคนโตได้สืบทอดอำนาจ ค.ศ. 195 ซุนเซ็กได้รับอนุญาตจากอ้วนสุด ให้นำพลหนึ่งพันกว่าคนข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงไปขยายอำนาจทางฝั่งกังตั๋ง (ภาคตะวันออกของแม่น้ำแยงซี) ซุนเซ็กได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากกลุ่มโคตรตระกูลที่มีอำนาจอิทธิพลอยู่ทางฟากกังตั๋ง เช่น ตระกูลจู ตระกูลเตียว (จาง) ตระกูลกู้ ตระกูลลู่ (ลก) และปัญญาชนแถบภาคเหนือของแม่น้ำแยงซี (กังปัก) เช่น จิวยี่ (โจวอฺวี้) เตียวเจียว (จางจาว) เป็นต้น จนปราบปรามกลุ่มอิทธิพลอื่น ๆ ได้สำเร็จ สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในดิน แดนฟากกังตั๋ง ค.ศ. 200 ซุนเซ็กตาย ซุนกวนได้เป็นผู้นำคุมอำนาจต่อ ซุนกวนสันทัดในการสามัคคีผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งยังรวบรวมบรรดาปราชญ์ เช่น โลซก (ลู่สู้) จูกัดกิ๋น (จูเก๋อจิ่น – พี่ชายของจูกัดเหลียง) เป็นต้น หลังจากโจโฉตีทัพเล่าปี่แตกยับเยินที่เนินเขาเตียงปันแล้ว ได้ยึดครองพื้นที่ฟากเหนือของแม่น้ำแยงซีคือเกงจิ๋ว โจโฉพำนักที่กังเหลง (เจียงหลิง) ส่งสาส์นถึงซุนกวน ข่มขู่ว่า ตนนำกองทัพพลแปดสิบห้าหมื่นมาร่วมล่าสัตว์ในดินแดน”ง่อ” (อู๋ – คือแดนกังตั๋ง) ซุนกวนประชุมขุนนางปรึกษากัน ขุนนางฝ่ายบุ๋นอันมีเตียวเจียวเป็นตัวแทนเสนอให้ยอมแพ้สวามิภักดิ์ ขุนนางฝ่ายบู๋อันมี จิวยี่ โลซก เป็นตัวแทนเสนอให้ทำศึกต่อต้าน จูกัดเหลียงไปถึงไฉซาง ได้ร่วมกับขุนนางฝ่ายบู๋วิเคราะห์สถานการณ์ด้านดีสามารถเอาชนะโจโฉได้ให้ซุนกวนเข้าใจ ซุนกวนจึงตัดสินใจร่วมกับฝ่ายเล่าปี่ทำศึกต่อต้านโจโฉ ฝ่ายโจโฉยกกองทัพจากกังเหลงตามน้ำลงมา ตั้งประจัญกับทัพซุนกวนที่เซ็กเพ็ก (ฉื่อปี้ – ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอผู่ฉี มณฑลหูเป่ย) โจโฉมีกำลังพลจริงประมาณยี่สิบกว่าหมื่น แต่โอ้อวดว่ามีไพร่พลแปดสิบห้าหมื่น ฝ่ายซุนกวนและเล่าปี่มีกำลังพลรวมกันเพียงประมาณห้าหมื่นคนเท่านั้น ในแง่จำนวนทหาร ฝ่ายโจโฉมีความเหนือกว่าอย่างเด็ดขาด แต่ทว่าฝ่ายโจโฉก็มีปัจจัยที่ไม่เป็นคุณหลายอย่าง เป็นต้นว่า กองทัพโจโฉเดินทางทำศึกมาไกล- “ทหารเดินทัพไกลจึงอ่อนล้า” , ทหารของเล่าจ๋องที่ยอมแพ้นั้น “ยังลังเลคลางแคลงไม่ปลงใจเป็นพวกโจโฉ” , ฝ่ายโจโฉ “ทิ้งอานม้ามาลงเรือ” ทิ้งด้านเด่นมาใช้ด้านด้อย ทหารโจโฉไม่คุ้นเคยการรบทางน้ำ , เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะไม่คุ้นเคยกับภูมิอากาศ , อยู่ห่างจากแนวหลังมาก การส่งกำลังและเสบียงบำรุงยากลำบาก , ราษฎรชาวเกงจิ๋วยังไม่ยอมรับโจโฉ , โจโฉยังมีห่วงทางด้านภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งขุนศึกม้าเท้งและหันซุยยังมีอำนาจเข้มแข็ง สามารถจะเข้าโจมตีฮูโต๋ได้ , โจโฉรุกรบได้ชัยชนะรวดเร็ว รีบร้อนยกทัพลงใต้ จิตใจเกิดประมาทดูเบาศัตรู แต่ฝ่ายซุนกวนและเล่าปี่นั้น ตรงกันข้าม พวกเขาอยู่ในพื้นที่ สามารถตั้งรับกองทัพที่อ่อนล้าเพราะเดินทัพมาแสนไกล , ใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญโจมตีจุดด้อย , งานด้านพลาธิการสะดวก , กำลังขวัญของพลรบดี , ซุนกวนและเล่าปี่มีผลประโยชน์ร่วมกันจึงสามารถสามัคคีกันได้ดีในขณะนั้น สองทัพเผชิญกันที่เซ็กเพ็ก การทำศึกช่วงแรกฝ่ายโจโฉเพลี่ยงพล้ำ โจโฉจึงถอยทัพไปตั้งอยู่ที่อูหลิม (อูหลิน) ทหารโจโฉส่วนใหญ่เป็นคนภาคเหนือ ไม่คุ้นเคยกับสภาพบนเรือ จึงเชื่อมหัวเรือและท้ายเรือเข้าด้วยกัน ฝ่ายตองง่อ(ตงอู๋ – คือกังตั๋งนั่นเอง) ใช้กลอุบายวางแผนให้อุยกาย (หวงไก้)ไปสวามิภักดิ์โจโฉ อุยกายนำเรือรบหลายสิบลำบรรทุกฟืนชุบน้ำมัน เข้าไปสวามิภักดิ์โจโฉในช่วงจังหวะลมทิศตะวันออกเฉียงใต้กำลังพัดแรง เมื่อเข้าไปห่างค่ายโจโฉสองลี้กว่า อุยกายจุดไฟขึ้นในเรือ เรือหลายสิบลำของอุยกายพุ่งเข้าปะทะค่ายของโจโฉ ทำให้ขบวนเรือของฝ่ายโจโฉที่เชื่อมต่อติดกันติดไฟไหม้รุนแรงรวดเร็ว และลามไหม้ถึงค่ายบนบกด้วย ไพร่พลและม้าศึกถูกไฟไหม้ตาย และจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก กองทัพฝ่ายซุนกวนและเล่าปี่ยกเข้าโจมตีซ้ำเติมทั้งทางน้ำทางบก โจโฉไม่กล้าต่อสู้ต่อ ให้เผาเรือและวัตถุปัจจัยที่เหลือทั้งหมด เร่งรีบถอยหนีกลับไปเมืองกังเหลง แล้วมอบหมายให้โจหยิน (เฉ่าหยิน)อยู่รักษาเมืองกังเหลง งักจิ้น (เยวี่ยจิ้น)อยู่รักษาเมืองซงหยง (ซางหยาง) ตัวโจโฉกลับไปภาคเหนือ ศึกเซ็กเพ็กที่โจโฉแตกทัพเรือนั้น ได้วางรากฐานก่อให้แผ่นดินแยกเป็นสามก๊ก หลังพ่ายศึกเซ็กเพ็ก โจโฉรับรู้ว่าไม่อาจจะทำลายกลุ่มซุนกวนและเล่าปี่ได้ในทันทีเสียแล้ว โจโฉจึงเปลี่ยนเข็มมุ่งเป็นการป้องกันก๊กซุนกวนและก๊กเล่าปี่เป็นหลักไปก่อน ทางชายแดนด้านใต้ (โจโฉอยู่ภาคเหนือ) เขาละทิ้งกังเหลง เขยิบหดแนวรบต้านทานเข้าไปอยู่แถบซงหยง (ซางหยาง) และอ้วนเซีย (ฝานเฉิง) ทางชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ โจโฉละทิ้งเมืองหว่านเฉิง (ปัจจุบันคืออำเภอเฉียนซาน มณฑลอันฮุย) เขยิบหดแนวต้านทานเข้าไปอยู่ที่หับป๋า (เมืองเหอเฝย) แล้วโจโฉหันไปเน้นการปรับปฏิรูปภายในแคว้น สร้างแนวหลังให้มั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น