เมื่อกล่าวถึง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในทางหลักการของแนวคิดกระแสหลัก หรือแนวคิดของภาครัฐ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy หมายถึง แนวคิดที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภาคการผลิต บริการ ภาคการขาย หรือแม้แต่อุตสาหกรรมบันเทิง เป็นแนวคิดที่อยู่บนการทำงานแบบใหม่ ที่มีปัจจัยหลักมาจากความสามารถ และทักษะพิเศษของบุคคล มันเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีกระบวนการนำเอาวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ( Creative Industry ) หรือ อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม ( Culture Industry ) และหากจะชี้ชัดให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ธุรกิจที่ภาครัฐมองว่าจัดอยู่ในข่าย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ งานโฆษณา , สถาปัตยกรรม งานฝีมือ และการออกแบบ , แฟชั่น และเครื่องนุ่งห่ม , ภาพยนตร์ และวิดีโอ , การออกแบบกราฟิก , ซอฟท์แวร์ เพื่อการศึกษา และการพักผ่อนหย่อนใจ , ดนตรี และผลงานเพลง , ศิลปะการแสดง และบันเทิง , การเผยแพร่โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต , ผลงานทัศนศิลป์ และของเก่า งานเขียน และงานพิมพ์ต่างๆ
โดยหลักการแล้วเป็นการนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ซึ่งสมาชิกประชาคมอาเซียนสนับสนุนหลักการนี้ โดยเห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นตัวช่วยประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศประชาคมอาเซียน ภาครัฐไทยจึงมอบหมายให้ “เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยไทย” วิจัย ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้ด้านนี้ ซึ่งทางเครือข่าย ฯ ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติมาแล้วหกครั้ง
ในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยสำนักงานศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏกาญจนบุรีเป็นเจ้าภาพหลัก ได้จัดประชุมเป็นครั้งที่เจ็ด ระหว่างวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์บนความหลากหลายทางมรดกชาติพันธุ์” The seventh International Conference on Art and Cultures in Creative E-Conomy : A Variety of Ethnic Heritage เพื่อเป็นเวทีในการการนำเสนอผลงานทางวิชาการและงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการร่วมมือ
นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่วงการวิชาการใส่ใจดำเนินงานด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์การปฏิบัติเป็นรูปธรรมของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จะยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง
ประเด็นที่สำคัญคือ การตีความและการใช้ “ทุนทางวัฒนธรรม”วัฒนธรรมนั้นเป็นวิถีชีวิตจริงของกลุ่มชน เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง พัฒนารุ่งเรืองรวมทั้งอาจเสื่อมถอยได้หากตีความ “การใช้ประโยชน์จากทุนวัฒนธรรม” ว่าคือการส่งเสริม อนุรักษ์ ประยุกต์ ให้เกิดผลประโยชน์ต่อชุมชนและสมาชิกชุมชน อย่างไม่ทำลายอัตลักษณ์ คติความเชื่อ คตินิยม สิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐาน และความภาคภูมิชองเจ้าของวัฒนธรรม ก็น่าจะเป็นผลดีทั้งต่อฝ่ายเจ้าของวัฒนธรรมและฝายธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
แต่ถ้าหาก วิสัยทัศน์แคบ มุ่งแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ขาดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัฒนธรรมที่ถูกต้องแล้ว “ทุน” หรือธุรกิจ ก็อาจจะใช้ “วัฒนธรรม” อย่างทำลาย หรือส่งผลด้านลบต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ถ้าทำถูกต้อง ก็ช่วยอนุรักษ์ พัฒนาส่งเสริมงานวัฒนธรรม แต่ถ้าทำผิดพลาด หวังแต่ผลประโยชน์มากก็อาจกลายเป็นการสร้างของปลอม และ/หรือ ทำลายวัฒนธรรมได้ เราจึงหวังว่า ภาครัฐและภาคธุรกิจจะใส่ใจกับปัญหาข้างต้น พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง