ชัชวาลล์ คงอุดม เรียน กองบรรณาธิการ นสพ.สยามรัฐ คอลัมน์ "ชัช เตาปูน ตอบจดหมาย" ดีใจกับผู้ใช้แรงงานด้วยนะครับ เปิดมาปีระกา ก็รับกับข่าวดี เมื่อทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการปรับปรุงเงื่อนไข เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานจากเดิมให้กำหนดให้เบิกอัตราค่ารักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานและเกิดการบาดเจ็บมีความรุนแรง สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาลสูงสุดเบิกได้ถึงจำกัด 1 ล้านบาท ก็แก้ไขใหม่เป็นสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้มากกว่านั้น โดยไม่จำกัด กรณีเข้ารับการรักษา ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา นับเป็นเรื่องที่ดี และอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้ เพราะหัวอกของคนเป็นลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทุกคน เรื่องสวัสดิการจากนายจ้างที่จะดูแลคนงานที่รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่องจนหายขาดนั้น แทบจะหาน้อยรายได้สำหรับผู้ประกอบการที่จะทำเช่นนั้น ส่วนใหญ่จะช่วยเหลือดูแลรักษาไประดับหนึ่งหรือให้เงินก้อนไปก้อนหนึ่งเพื่อรักษาตัว แล้วก็จบกัน ซึ่งปล่อยให้คนงานต้องเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีหรือใช้สารโลหะต่างๆ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงทีเดียว ซึ่งคนงานจะได้รับสารพิษ ทั้งนี้ความรับผิดชอบต่อแรงงานก็ควรจะสูงตามไปด้วย โดยไม่ควรจะถูกเรียกเงินสมทบเท่ากับสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงน้อย เพื่อที่สำนักงานประกันสังคมจะได้มีรายได้จากเงินสมทบเพิ่มในการรองรับกับการให้ประกันสังคมเข้าไปดูแลค่ารักษาพยาบาลคนงานของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างสมเหตุสมผล โดยภาครัฐควรจะกันเงินส่วนหนึ่งไว้เสียด้วยซ้ำเพื่อรองรับอนาคตของคนงานเหล่านี้ หากเกษียณตัวลงไปแล้วเกิดล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอย่างรุนแรง หรือกระทั่งโรคมะเร็งอันเกิดจากการสะสมของสารพิษสารเคมีที่อยู่ในร่างกายตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับสารโลหะหนัก สารเคมีเหล่านั้น การดำรงชีวิตอยู่หลังล้มป่วยย่อมจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากไม่มีสตางค์หรือญาติที่พอมีอันจะกินช่วยเหลือดูแลได้ ที่ผ่านมาเรื่องของความคุ้มครองดูแลแรงงานไทยของเราทุกวันนี้ ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ปล่อยตามมีตามเกิดกันมานาน ทั้งๆ ที่ควรจะมีการจัดลำดับความเสี่ยงโรงงานหรือสถานประกอบการที่มีความแตกต่างตามระดับความเสี่ยงของแต่ละสถานประกอบการกันออกไป เพื่อนำมาเป็นตัวตั้งในการให้สถานประกอบการได้เพิ่มเงินสมทบจะเข้าสู่ประกันสังคมหรือเงินกองทุนทดแทนแรงงานอะไรได้ ก็สุดแล้วแต่เวลาเกิดล้มป่วยด้วยโรคร้ายอันเนื่องมาจากการสะสมสารพิษหรือสารเคมีเข้าไปตลอดระยะเวลาการทำงานเข้า อย่างน้อยก็จะได้มีหลักประกันเพียงพอที่จะมาช่วยเหลือเยียวยาเวลาล้มหมอนนอนเสื่อได้ นี่ก็ไม่รู้ว่า ที่พูดๆ กันถึงเรื่องอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะไม่พอเพียงนั้น มาจากสำนักงานประกันสังคมต้องดูแลรับผิดชอบให้กับพนักงานที่ล้มป่วยหรือล้มตายจากสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด และเป็นต้นตอสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สำนักงานประกันสังคมมีเงินไม่เพียงพอรองรับหรือไม่ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ภาครัฐไม่เคยทำการวิเคราะห์ตัวเลข หรือมีการทำตัวเลขแจกแจงหรือแยกแยะกันออกมาเป็นรูปธรรม จึงไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงเรื่องเหล่านี้กันเท่าที่ควร เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไข เพราะคงไม่แฟร์เลย สำหรับนายจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ จะต้องถูกเรียกเก็บเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มในอนาคต หากเงินประกันสังคมมีแนวโน้มไม่เพียงพอ ทั้งๆที่ควรมีการรื้อระบบการจัดเก็บเงินสมทบใหม่ให้สอดคล้องกับภาระความเสี่ยงของสถานประกอบการนั้นๆ ไม่ใช่สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำ จะต้องไปอุ้มสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นต้นตอของแรงงานบาดเจ็บล้มตายไปด้วย ซึ่งมันคงไม่แฟร์กันเลยทีเดียว รัฐบาลต้องอย่าลืมว่า สำนักงานประกันสังคมกำลังเผชิญกับวิกฤติความเสี่ยงกับเงินกองทุนประกันสังคมที่อนาคตเสี่ยงต่อการจะไม่เพียงพอเพราะระบบประกันสังคมยังดูแลผู้ประกันตนครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ การคุ้มครองทุพพลภาพ และเสียชีวิต การคุ้มครองการว่างงานและสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรด้วย โดยเฉพาะในเวลานี้ยังมืดแปดด้านกัน เนื่องจากไม่รู้ว่าจะนำเอาเงินจากตรงไหนมารองรับกับอนาคตความไม่เพียงพอของเงินกองทุนประกันสังคมกัน ในขณะที่แต่ละยุคสมัยของรัฐบาลที่เข้ามา การเพิ่มหรือขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนก็มักจะเกิดขึ้นหรือมีให้เห็นกันทุกยุคทุกสมัยรัฐบาลทีเดียว แล้วเช่นนี้จะไม่ให้เงินประกันสังคมพร่องไปกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอยากจะฝากเรื่องเหล่านี้เป็นข้อคิดสำหรับรัฐบาลไว้ด้วยเถอะครับ ขอบพระคุณอย่างสูง หัวอกหนึ่งผู้ใช้แรงงานไทย เรียน ผู้ใช้นามแฝง "หัวอกหนึ่งผู้ใช้แรงงานไทย" ขออนุญาตตอบจดหมายของคุณนะครับ เห็นด้วยนะครับ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง ย่อมสมควรจะต้องมีการจัดระบบสวัสดิการรองรับให้เหมาะสมและสอดคล้องไปกับความเสี่ยงของพนักงานหรือคนงานในสถานประกอบการที่จะบาดเจ็บหรือล้มป่วยลงด้วยครับ แต่จะด้วยวิธีการไหนนั้น ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้ออกแบบและบริหารจัดการให้เหมาะสมกันครับ โดยไม่ให้เป็นภาระต่อสถานประกอบการนั้นๆจนเกินไป เพราะมิฉะนั้นแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระต้นทุนกิจการนั้นๆไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันหากไม่มีการปรับปรุงให้สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูงนั้นๆรับผิดชอบต่อคนงานที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสังคมนี้ด้วยแล้ว ก็คงจะไม่ยุติธรรมกันครับ สุดท้ายนี้ เอาเป็นว่า ผมนำจดหมายของคุณมาลงก็แล้วกันนะครับเผื่อหน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบจะได้พิจารณาอ่านหรือรับฟังเสียงสะท้อนของคุณหัวอกหนึ่งผู้ใช้แรงงานไทยอีกด้านหนึ่งกันครับ ด้วยรักและนับถือ เจริญชัย อุดมพาณิชวงศ์ "เห็นด้วยนะครับ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง ย่อมสมควรจะต้องมีการจัดระบบสวัสดิการรองรับให้เหมาะสมและสอดคล้องไปกับความเสี่ยงของพนักงานหรือคนงานในสถานประกอบการที่จะบาดเจ็บหรือล้มป่วยลงด้วยครับ แต่จะด้วยวิธีการไหนนั้น ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้ออกแบบและบริหารจัดการให้เหมาะสมกันครับ โดยไม่ให้เป็นภาระต่อสถานประกอบการนั้นๆ จนเกินไป เพราะมิฉะนั้นแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระต้นทุนกิจการนั้นๆไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันหากไม่มีการปรับปรุงให้สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูงนั้นๆรับผิดชอบต่อคนงานที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสังคมนี้ด้วยแล้ว ก็คงจะไม่ยุติธรรม"