ทีมข่าวคิดลึก อุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมืองจะกลับมาอีกระลอกหรือไม่ ยังเป็นวาระที่ไม่อาจคาดเดา และละสายตา หลังจากที่ "เวทีปรองดอง" ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ววันนี้ 14 ก.พ. เมื่อตัวแทนพรรคการเมือง ตลอดจนตัวแทนฝ่ายต่างๆ ได้มาเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ตามที่ได้รับเทียบเชิญจากคณะทำงานของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเจ้าของรหัส "สนามไชย 1"แน่นอนว่าเมื่อทุกเสื้อสี ทุกพรรคการเมือง รวมทั้งองค์กรต่างๆล้วนถูกเชื่อมโยงกันด้วยปัญหาและความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นมายาวนานตลอดระยะเวลากว่าสิบปี การที่จะให้ทุกฝ่าย มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไปจนถึงยอมให้อภัยกัน ภายในระยะเวลาอันสั้นก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะคาดว่าน่าจะมีขึ้นในปีหน้า ตามโรดแมป หากไม่มีรายการบางประการที่ยากจะคาดเดา ผุดขึ้นมากลางคันเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ จะพบว่า แม้จะมีความเห็นและข้อเสนอจากสองพรรคการเมืองใหญ่ ไปจนถึงพรรคขนาดเล็ก ต่อการสร้างความปรองดอง ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังใช้วิธีการทำงานผ่านคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาพิเศษ ตามมาตรา 44 นั่นคือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แต่ขณะเดียวกัน แกนนำระดับ "คีย์แมน" ของแต่ละเสื้อสี แต่ละพรรคการเมือง ต่างส่งสัญญาณ"ขานรับ" กันอยู่ในทีเพราะต้องไม่ลืมว่า รถไฟสายปรองดองสายนี้ถูกผูกโยงเอาไว้ด้วยเงื่อนไขการเลือกตั้ง ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใด ? แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวนี้นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ตลอดจนแกนนำเสื้อสีต่างรับรู้กันเป็นอย่างดี ว่าปฏิบัติการสร้างความปรองดองเชิญชวนให้ทุกคน อยู่ในสงบแล้วพากันขึ้นขบวนรถไฟสายปรองดองนั้นกำลังดำเนินไปภายใต้เงื่อนไข และการกดดันจาก คสช. อยู่ไม่น้อย หากที่สุดแล้วฝ่ายการเมืองไม่สามารถ "จัดการ" กับความขัดแย้งของฝ่ายตนเองได้ และทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ก่อนและหลังการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จากการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 จนเกิดเป็น "เลือกตั้งเลือด" มาแล้ว โอกาสที่รัฐบาล และ คสช.จะยอมให้ไฟเขียวปล่อยทุกฝ่ายลงสู่สนามนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากและห่างไกลกันออกไปทุกที แม้ ณ วันนี้ "บิ๊ก คสช." จะย้ำว่า "ทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแมป" ก็ตามการตัดสินใจร่วมขบวนปรองดองของ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงนั้นถูกจับตามากที่สุด เพราะท่าทีดังกล่าวย่อมสะท้อนความคิดของ"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯว่าเขาจะเลือกทางใด จะแข็งขืนเพื่อรอวัน "แตกหัก" ชนิดที่จะไม่มีทางกลับมามีโอกาส "แก้ตัวแก้มือ" ได้อีกต่อไป หรือจะส่งซิกให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง อยู่ในความสงบแล้ว รับตั๋ว ขอร่วมขบวนปรองดองไปกับ "คู่ขัดแย้ง" ไม่ว่าจะเต็มใจหรือจำยอม! ว่ากันว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อภารกิจการสร้างความปรองดอง นั้นยังถือเป็นตัวแปร เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ และกปปส. ต้องเลือกตัดสินใจเช่นกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อรักษา "ที่ยืน" ทั้งในสนามเลือกตั้ง และในระนาบเดียวกันกับ คสช. เอาไว้ให้ได้มากที่สุด สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้หน้าฉากจะมีการเชิญชวนให้ "คู่ขัดแย้ง" ร่วมขบวนในการสร้างความปรองดอง แต่เบื้องลึกเบื้องหลังยังมีรายการเล่นเกมปล่อยข่าวลือ สร้างความหวาดระแวงต่อกัน อย่างดุเดือด ทั้งการตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ไปจนถึง "ปฏิวัติซ้อน" ซ้ำไปซ้ำมา !