ทวี สุรฤทธิกุล
รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญศักดินา
คำว่า “ศักดินา” มีความหมายอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความแตกต่าทางชนชั้น” โดยในสังคมเช่นนี้จะแบ่งคนให้มี “ศักดิ์” หรือฐานะทางสังคมแตกต่างกัน อย่างที่ในสังคมไทยแต่โบราณ(และก็ยังซึมซับสืบทอดมาในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้)แบ่งคนเป็น “เจ้าขุนมูลนาย” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เจ้านาย” พวกหนึ่ง กับ “ขี้ข้า” ที่ในสมัยก่อนนั้นเรียกว่า “ไพร่” โดยที่เจ้านายจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลไพร่ และไพร่นั้นมีหน้าที่ “รับใช้” เจ้านายแต่เพียงอย่างเดียว
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คนไทยจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องศักดินานี้ได้พอสมควร ด้วยเหตุที่มีการให้ความหวังจากคณะราษฎรดังข้อความที่เขียนไว้ในตอนท้ายของแถลงการณ์ของคณะราษฎรฉบับแรกว่า “ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริยะ" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” แต่คณะราษฎรก็ทำให้คนไทยกลุ่มนี้ผิดหวัง เพราะคณะราษฎรกลับเขียนรัฐธรรมนูญให้ปกป้องอำนาจของคณะราษฎรไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว ถึงขั้นที่มีการกระทบกระทั่งกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ที่สุดพระองค์ก็ต้องสละราชบัลลังก์ ด้วยเหตุผลดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ผู้สนใจทางการเมืองจดจำได้ดีว่า “…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จและเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป...”
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นผู้หนึ่งที่ “รู้สึกยินดีปรีดา” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 87 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นท่านยังเป็นนักศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาไทยที่นั่นจำนวนมากก็มีความรู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน เมื่อท่านกลับมาเมืองไทย มารับราชการ และทำงานต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกับที่ได้ติดตามการบริหารบ้านเมืองของคณะราษฎรไปด้วย จึงได้เห็นว่าคณะราษฎรนี้ที่แท้ก็คือ “เจ้าพวกใหม่” นั่นเอง เพราะยังคง “กร่างและหวงอำนาจ” อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านต้องลงไปเล่นการเมืองในปี 2489 แต่ก็พบกับความยากลำบากในการต่อสู้กับคณะราษฎร ซึ่งที่สุดคณะราษฎรก็แตกคอกัน สุดท้ายก็หมดอำนาจไปในปี 2500 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎรคนสุดท้ายได้ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจ พร้อมกับการขึ้นมาของผู้นำทหารกลุ่มใหม่
อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็มีปัญหาในการสร้างประชาธิปไตยมาโดยตลอด เพราะทหารยังคงมีความคิดที่จะ “เก็บรวบอำนาจ” ไว้ที่ทหารแต่เพียงกลุ่มเดียว เพราะแม้ทหารมีแนวคิดที่จะสร้างประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้ความเชื่อของทหาร โดยมีนักกฎหมายและนักวิชาการจำนวนหนึ่งยอมตนรับใช้ อย่างเช่นการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่แม้จะมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ได้กีดกันไม่ให้ผู้แทนราษฎรนั้นได้เป็นรัฐมนตรี โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญคาดหวังว่า ส.ส.จะได้ทำหน้าที่เฉพาะแต่กับประชาชนในพื้นที่เต็มที่ และ ส.ส.จะต้อง “พึ่งพิง” รัฐบาลที่อยู่ภายใต้กำกับของทหารนั้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทั้งในการจัดสรรงบประมาณและการแก้ไขปัญหาในเขตเลือกตั้งของ ส.ส.เหล่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่า ส.ส.จะมีฐานะเป็นแค่ “ขี้ข้า” ของผู้มีอำนาจคือทหารที่บงการและกำกับดูแลรัฐบาลอยู่นั้น แต่ ส.ส.ก็ไม่ใช่ “ไพร่สถุล” ที่โง่เง่าไร้ความคิด จึงได้มีการคัดง้างเรียกร้องเอาผลประโยชน์กับรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ ส.ส.ในฝ่ายของรัฐบาลที่เรียกเอา “ค่ายกมือ” เพื่อผ่านกฎหมายต่างๆ หรือเพื่อความมั่นใจในการโหวตรับรองญัตติต่างๆ ที่พรรคฝ่ายค้านก็ระดมต่อสู้กับรัฐบาลอย่างหนักเช่นกัน ที่สุดสภาก็วุ่นวายมากจนนายกรัฐมนตรีคือจอมพลถนอม กิตติขจรต้องทำการรัฐประหารตนเอง ด้วยการล้มสภา เลิกใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งได้เพียง 2 ปีเศษ พร้อมกับ “กระชับอำนาจ” ให้มั่นคงและ “ปิดประตู” ใส่ประชาธิปไตย
แนวคิดดังกล่าวของทหารไม่อาจจะรอดพ้นการจับตามองของปัญญาชนโดยเฉพาะอาจารย์รุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งพวกเขาได้จับกลุ่มกันวิพากษ์ “แนวคิดชั่วร้าย” ดังกล่าว และแพร่ขยายความคิดนั้นไปในหมู่นักศึกษาและประชาชน จนกระทั่งเกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยความรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่จบลงด้วยชัยชนะของนักศึกษาและประชาชน พร้อมกับขับไล่ทหารออกไปจากเวทีการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็น “จุดจบ” ของระบอบทหาร เพราะแม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตยจ๋า” คือฉบับ พ.ศ. 2517 ที่สกัดกั้นไม่ให้ทหารและข้าราชการเข้ามามีอำนาจ แต่เพียง 2 ปีเศษจากนั้นภายใต้ระบบรัฐสภา บ้านเมืองก็ยังมีความวุ่นวายไม่จบ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของขบวนการนักศึกษาประชาชนเอง และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจาก “กลุ่มอำนาจเก่า” คือทหารที่ได้สมคบคิดกันกับนักการเมืองในรัฐสภาทำการสร้างคลื่นใต้น้ำเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของตนเอง ที่สุดก็สำเร็จในการทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งตามมาด้วย “แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ดังที่จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่ทหารกำกับการร่างอย่างใกล้ชิด
รัฐธรรมนูญ 2521 นั้นบรรจุด้วยแนวคิดศักดินาอย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้เพื่อให้ได้เห็น “ความคล้ายและผลร้าย” ที่จะติดตามมา จะขอไปให้รายละเอียดในสัปดาห์หน้า
แล้วจะเข้าใจว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560