ในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงาน 3 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 3 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ สงครามการค้า ปัจจัยที่สองเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง และปัจจัยที่สาม เงินหยวนที่อ่อนค่าลง สิ่งที่ต้องทำ คือ ไตรมาส 3-4 ซึ่งเป็นช่วงที่เหลือในปี 2562 จะทำอย่างไร พบสัญญาณเศรษฐกิจที่มีปัญหา เช่นการลดลงของดัชนีดาวโจนส์มาก เพราะความกังวลที่ค่าเงินหยวนอ่อน ที่ผ่านมาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง แต่ครั้งนี้ความขัดแย้งมาถึงการใช้ค่าเงิน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการค้า ทำให้ไทยต้องจับตาใกล้ชิด เพราะจีนเป็นประเทศที่ถือพันธบัตรสหรัฐฯมาก สถานการณ์ค่าเงินหยวนในขณะนี้ เชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤติของสงครามค่าเงิน แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้นต้องเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ สั่งการให้กระทรวงการคลัง ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กระทั่ง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เหลือร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกที่หดตัวและเริ่มส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยคณะกรรมการยังคงมีความกังวลกับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ ให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี สอดคล้องกับจังหวะและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งได้ทยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินไปก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่ากนง. ให้น้ำหนักของการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินไปที่ปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ในช่วงข้างหน้า ตลาดเงินตลาดทุนคงรอติดตามว่า กนง. จะประเมินปัจจัยลบและผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร และสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพราะมุมมองดังกล่าวจะมีผลต่อการคาดการณ์ของตลาดต่อการกำหนดจุดยืน/ท่าทีของนโยบายการเงินในช่วงต่อไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรที่จะต้องติดตามสำหรับการดำเนินนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า อยู่ที่ 2 องค์ประกอบสำคัญ ประการแรก ความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งจะรวมถึงขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนการตอบสนองของระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ประการที่สอง ความไม่แน่นอนของปัจจัยลบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสภาวะไม่ปกติในระยะข้างหน้า อาทิ ความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทที่ผันผวน แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค