กระแสข่าวที่สะพัดตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำเอาหลายคนอดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ว่า ที่สุดแล้ว “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะ “ถอดใจ” ยอมประกาศลาออก ตามแรงกดดันอันสืบเนื่องมาจากประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตน
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอโทษกลางที่การประชุมการชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง โดยมีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หัวหน้าส่วนราชการระดับสูง และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จากทุกหน่วยงาน ซึ่งจัดขึ้น ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ด้วยกันถึง2-3 รอบ
“เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียว ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดู ว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็คงยังจะมีรัฐบาลอยู่ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว”
บางส่วนบางตอนจากพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้กล่าวกับผู้บริหารระดับสูง ได้กลายเป็น “ชนวน” ที่ถูกนำไปตีความคำว่า “จะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว” นั้นจะหมายความว่า นายกฯจะประกาศ “ลาออก” หรือไม่ ?
รวมทั้งยังจะหมายความไปถึง “ครม.ทั้งคณะ” จะต้องลาออกด้วยหรือไม่ ได้กลายเป็นกระแสที่ถูกโหมกระพือ ทั้งจากความสงสัย จากผู้คนในสังคม ตลอดจนการออกมา “ส่งสัญญาณ” จาก “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุค
“ ที่พลเอกประยุทธ์พูดกับครม.เกี่ยวกับเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี่ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว ต้องขอโทษถึง 3 ครั้ง แถมยังพูดอะไรแปลกๆเช่นยังคงมีรัฐบาลอยู่
รัฐบาลประเทศไทย ไม่หายไปไหนหรอกครับ แต่ครม.ทั้งชุดจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ขาดในสาระสำคัญ แล้วทำไมขอโทษแต่รัฐมนตรี คนที่พลเอกประยุทธ์ควรขอโทษคือประชาชนทั้งประเทศมากกว่า”
ในความเป็นจริงแล้ว การกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จากฝ่ายค้านนั้นโอกาสที่จะ “ได้ผล” แทบเป็นไปได้ยาก เพราะในท่ามกลางท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาเอ่ยปากขอโทษ และประกาศขอรับผิดชอบเพียงผู้เดียวนั้น แต่ขมวดปมเอาไว้ที่ “ไม่มีเจตนา” นั้นล้วนแล้วแต่เป็น “คำตอบ” สะท้อนให้เห็นว่า ยอมถอยด้วยการขอโทษ แต่จะไม่ไปถึงขั้นประกาศลาออก
และเมื่อประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการถวายสัตย์ฯ อันเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับสถาบัน ความจงรักภักดีนั้นก็เคยเป็น “จุดอ่อน” สำหรับพรรคอนาคตใหม่อย่างหนักหนามาแล้ว ดังนั้นหากคิดที่จะใช้ “ดาบเล่มเดียวกัน” โจมตีตัวพล.อ.ประยุทธ์ บ้างก็น่าจะเป็น “อาวุธ” ที่มีควาแหลมคมไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ดี ทางออกของพล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เองยังไม่สามารถบอกกับสื่อที่รุมซักถามได้อย่างชัดเจนนั้น ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออก หรือมีทางออกเดียวคือการลาออก ทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์ และครม. เพราะหากฝ่ายค้านยังออกแรงกดดันอย่างหนักแล้ว ฝ่ายค้านจะแน่ใจได้หรือไม่ว่า “ผลกระทบ” ที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น “ประโยชน์” จะตกเป็นของฝ่ายค้าน หรือยุติลงแค่เพียงการล้มรัฐบาล
อย่าลืมว่า หากเมื่อใดที่ย้อนกลับไปยังห้วงที่ไม่มีรัฐบาล นั่นจะหมายความว่า “อำนาจพิเศษ” หรือการกลับมาของ คสช.ก่อนวันที่มี ครม.ชุดใหม่ จะไม่ถูกปลุกขึ้นมา !?