การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% โดยกำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท
ขณะที่ ประมาณการรายได้รัฐบาลอยู่ที่ 3,237,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือ 7.1%
ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 อยู่ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวในช่วง 3.0 – 4.0% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8 – 1.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 - 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกต 3 ประการ ประการแรกการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออยู่ของปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน การปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของแผนงาน โครงการ ที่ไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินแผนงาน โครงการ ที่มีความพร้อม การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายและการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจโดยเร็ว
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคต การส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ การปรับโครงสร้างภาษี และการนำมาตรการทางการเงินสมัยใหม่และแหล่งเงินอื่นมาใช้เพื่อลดภาระงบประมาณ อาทิ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เงินสะสม ทรัพย์อิงสิทธิ เป็นต้น
ประการที่สอง หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายประจำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ควรมีการปฏิรูปเพื่อลดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การปรับโครงสร้างกำลังคนภาครัฐและระบบการบรรจุทดแทนผู้เกษียณอายุในระยะยาว เป็นต้น รวมถึงการนำโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาสนับสนุนภารกิจการให้บริการประชาชนและนิติบุคคลให้มากขึ้น และการลดกฎเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มขั้นตอนและภาระงบประมาณรายจ่ายประจำของภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุนของภาคเอกชนอีกทางหนึ่งด้วย
ประการสุดท้าย การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ความเหมาะสมกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณในระยะยาว