สมบัติ ภู่กาญจน์ หลังจาก ‘เตือนสติ’ผู้ใหญ่ ให้รู้จักปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี ในการที่จะสอนหรือแนะนำเด็ก ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ‘อาจารย์ที่แท้จริง’ของผม ผู้มีนามว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังมีความเห็นต่อไปว่า “ถ้าผู้ใหญ่เพิกเฉยละเลย ต่อการกระทำเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เกิด ‘ความว่าง’ขึ้นมา และเมื่อเกิดความว่างขึ้นแล้วในจิต สิ่งอื่นก็จะต้องไหลเข้าสู่จิตนั้น ของเด็กเป็นธรรมดา และสิ่งที่กำลังไหลเข้าสู่จิตของเด็กไทยทุกวันนี้ ก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นของฝรั่ง ทั้งที่ดีและเลว ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถคัดเลือกหรือจัดสรรได้ ปนปะคละกันไป” คำสอนเหล่านี้ อาจารย์ของผมสอนไว้นานกว่า 50 ปีผ่านมาแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ‘สิ่งที่ไหลเข้าสู่จิตของเด็กไทย’ ยังมีน้อยกว่าทุกวันนี้หลายร้อยหลายพันเท่า เพราะโลกยุคนั้นยังไม่มีแม้แต่คาสเสตเทป วีดิโอเทป ไม่มีแผ่นดิส ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเตอร์เนต สื่อในโลกมีแต่หนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์ภาพยนตร์ ที่ ‘ผู้ใหญ่’สามารถจะควบคุมในการไหลเข้าสู่เด็กได้มากกว่าทุกวันนี้ แต่ถึงกระนั้นอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ยังเห็นว่า “ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะไปตำหนิเด็กก็ไม่ถูก และผู้ใหญ่ทุกวันนี้ ก็ดูเหมือนจะเก่งแต่ตำหนิเด็กเท่านั้นเอง แต่พอถึงภาระที่จะต้องอบรมสั่งสอนเด็ก ผู้ใหญ่นั้นก็จะผลักภาระไปให้แก่คนอื่น หรือเด็กของตนไม่ดีได้ดังใจ ก็หันไปด่าสิ่งอื่นๆอีกสารพัด เช่นด่าหนังฝรั่งบ้าง หนังไทยบ้าง ด่าวิทยุบ้าง ด่าโทรทัศน์บ้าง ด่าหนังสือพิพม์บ้าง จนถึงปลายปีเด็กของตนเกิดสอบตกขึ้นมา ก็หันไปด่ารัฐมนตรีศึกษาฯได้อีก ความจริงแล้ว สิ่งต่างๆที่ปรากฏแก่ตาของเด็กในโลกมนุษย์ทุกวันนี้ ย่อมจะมีทั้งสิ่งที่ดีและชั่ว ปนปะคละกันไป คนที่จะดีได้นั้น จะต้องได้รับการอบรมฝึกฝนมามากพอที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว จนสามารถเลือกเอาสิ่งที่ดีไว้ และทิ้งสิ่งที่ชั่วไป การอบรมฝึกฝน ตลอดจนถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้แก่เด็กหรือคนรุ่นหลัง จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญของคนที่เรียกตัวเองว่า ผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่เอง ยังเลือกชั่วเลือกดีไม่ถูก เด็กก็ย่อมจะเลือกดีเลือกชั่วไม่ถูกเหมือนกัน จะไปตำหนิเด็กฝ่ายเดียวได้อย่างไร ซึ่งหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมนั้น ผมเห็นว่ามีหน้าที่สำคัญอยู่สองประการคือ หนึ่ง รักษาสิ่งที่ดีในอดีตไว้ให้คนรุ่นต่อไป สอง ใช้ความรู้ความสามารถในปัจจุบันที่มีอยู่ สร้างอนาคตที่ดีเอาไว้ให้แก่ลูกหลาน พูดมาแค่นี้แล้ว ก็ขอให้ช่วยกันคิดต่อไปเถิด ว่าผู้ใหญ่ในเมืองไทยทุกวันนี้ ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้กันอยู่หรือหาไม่? และได้สร้างตัวอย่างที่ดีกันอยู่แล้วหรือไม่? และมากน้อยเพียงใด?” นี่คือ ส่วนหนึ่งแห่งคำสอนจาก‘อาจารย์ที่แท้จริง’ของผม ซึ่งทุกวันนี้ ผมยังเห็นว่าเป็นคำสอนที่สามารถนำไปใช้ได้อยู่ และน่าจะยังใช้ได้ดี เราควรจะมองตัวเองว่า ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ ปฎิบัติหน้าที่อย่างไรกันอยู่บ้าง และเราคำนึงถึงกันหรือเปล่าว่า เด็กทุกวันนี้มีโลกของเขาเองที่แตกต่างจากโลกของผู้ใหญ่อย่างมากมายยิ่งกว่าในอดีต และในความต่างนั้น เขาอาจจะไม่สนใจในความคิดหรือการกระทำของผู้ใหญ่มากนักเลย เพราะไม่ใช่โลกของเขา แต่การกระทำทุกอย่างของผู้ใหญ่นั้น ผ่านไหลเข้าสู่สายตาของเขาด้วยการมองเห็นอยู่ทุกวัน เขามองเห็นได้แน่นอนว่า อีตาคนนั้นขี้โมโห, อีตาคนนี้ชอบเห็นตรงข้าม, อีตาคนนั้นขี้โกงกำลังถูกด่า, อีตาคนนี้ก็น่าจะขี้โกงแต่ไม่เคยถูกด่าสักเท่าไร, อีตาคนนี้ก็ถูกหาว่าขี้โกงแต่มีคนแก้ให้ทุกครั้ง, อีตาคนนั้นรวยจัง น่าสนใจว่าเขาทำยังไง, อีตาคนนี้ขี้ขโมย ฯลฯ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไหลเข้าสู่จิตของเด็ก ไม่ต่างจากลมหายใจของมนุษย์ จนเด็กช่างคิดบางคนอาจคิดด้วยซ้ำว่า “ผู้ใหญ่ที่ชอบว่าเรานั้น บางคนเป็นมากกว่าเราอีก ไม่เห็นมีใครว่าอะไร” ไหลพร้อมกระแสการเติบโตทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่แรงและเร็วขึ้น จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างที่มนุษย์หลายคนนึกไม่ถึง โลกส่วนตัวของเด็กกับโลกส่วนตัวของผู้ใหญ่ จึงห่างไกลออกจากกันมากยิ่งขึ้น ทุกวัน และทุกวัน ขณะที่ทางแก้ยังไม่มีใครมองเห็น ผมอยากให้เราช่วยกันอ่านซ้ำความเห็นสองประการจากอาจารย์ของผม ที่แนะนำว่าหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ควรปฏิบัติ คือ หนึ่ง ช่วยกันรักษาสิ่งดีในอดีต เอาไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป สอง ช่วยกันใช้ความรู้ความสามารถทำวันนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลาน ซึ่ง สิ่งดีในอดีตของเรานั้น ต้องมีแน่ มิฉะนั้นเราคงไม่มีชาติและตัวของเราอยู่มาได้จนทุกวันนี้ แต่......ต้องหาให้พบ ว่ามันคืออะไร? และ การตัดสินใจทำสิ่งที่ดีในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า นั้น สามารถทำได้แน่ถ้าผู้ทำจะรู้จักใช้ ‘ปัญญา’ ‘ปัญญา’ ดังกล่าวนี้ ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ จะมีมากกว่าเด็กทุกวันนี้หรือเปล่า? ผมคิดว่าคำถามนี้ ถ้าอาจารย์ของผมยังมีชีวิตอยู่ ท่านอาจจะถามกับผู้ใหญ่ทุกวันนี้ก็ได้ครับ