สถาพร ศรีสัจจัง เป็นอีกเรื่อง เป็นอีกครั้ง ไม่รู้จะเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว ที่มีพฤติกรรมลุแก่อำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า ถมทับจนเกินทำใจให้อยากเชียร์ การมีพฤติกรรมข่มเหงน้ำใจแล้วให้ “ผู้ใหญ่” ตามแก้ด้วยปากด้วยน้ำลาย จนชาวบ้านรู้สึกเหลืออดเหลือทน จนต้องออกอุทาน “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ! คือกรณีที่กองกำลังเจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นบ้านเรือนชาวบ้านยามวิกาล เมื่อไม่พบหลักฐานอะไรว่าเป็น “ผู้ร้าย” ก็สร้างสถานการณ์ “ปืนจี้” ข่มขวัญให้เซ็นชื่อ “ยินยอม” ให้เจ้าหน้าที่ (ที่เตรียมการเตรียมเครื่องมือมาพร้อมแล้ว เหมือนรู้ล่วงหน้าว่า “เหยื่อ” คือชาวบ้านต้อง “ยินยอม”!) “เก็บหลักฐานพันธุกรรม” (DNA.) โดยชาวบ้านไม่เคยรู้ว่าทางการบ้านเมืองจะเอาไปทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน หรืออย่างไร? แล้ว “ท่านแม่ทัพ” ก็ออกมาขอโทษชาวบ้านอีกครั้ง แสดงท่าเหมือนว่าตนเองไม่ได้สั่งการ และการกระทำที่ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนเช่นนั้น คงเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ กระทำไปโดยพลการ โดยผู้บังคับบัญชา “ระดับสูง” ที่เปี่ยมเต็มไปด้วย “หลักการ” ไม่ได้รับรู้แต่อย่างใด! บอกต่อแบบได้ความไม่ต่อเนื่องชัดเจนนักว่า หลังจากจะต้องมีการ “สอบสวน” เพื่อ “หาข้อเท็จจริง” ในเรื่องราวดังกล่าวนี้ต่อไป แล้วก็จบเรื่อง? ปรากฏการณ์ของเรื่องที่เล่ามา เกิดขึ้นกับชาวบ้านในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในค่ำคืนหนึ่ง ชาวบ้านหลายคนทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนแก่ และผู้หญิง ยังคงอกสั่นขวัญหายกันอยู่ถึงวันนี้ การตรวจค้นครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 โดยเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายสนธิกำลังกันไม่น้อยกว่า 500 นาย ดาหน้าปูพรมเข้าตรวจค้นบ้านเรือนชาวบ้านหมู่ 1 และ หมู่ 4 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา สั่งห้ามชาวบ้านถ่ายรูป วิดีโอ เรียกชาวบ้านออกนอกบ้านยามดึก ตั้งแต่ตี 3 จนย่ำรุ่ง ทั้งบ้านผู้นำท้องถิ่นผู้นำศาสนาและชาวบ้านทั่วไป จนวันรุ่งขึ้นท่าน แม่ทัพภาค 4 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ไม่รู้เพราะเห็นถึงปฏิกิริยาไม่พอใจอย่างยิ่งของชาวบ้านหรือเพราะเหตุใด ก็เดินทางไปขอโทษชาวบ้านถึงในพื้นที่พร้อมผู้นำชาวบ้านและผู้นำทางศาสนา ก็คงจะมีส่วนช่วยลดทอนความไม่พอใจของชาวบ้านลงได้บ้าง แต่จนถึงวันนี้พวกเขาก็ยังไม่แน่ใจว่า DNA ของพวกเขาที่ถูกบังคับตรวจเก็บไปจะถูกทำลายทิ้งตามข้อร้องขอแล้วหรือไม่อย่างไร? ที่จริงพฤติการณ์ “ละเมิด” เช่นที่ว่านี้ ใช่ว่าจะเพิ่งเกิด การบุกตรวจค้น หรือจับกุม “ผู้ต้องสงสัย” ด้วยท่าทีไม่เหมาะควรมีมาก่อนหน้านี้ไม่น้อย รายการ “เปิดปม” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส. คืนวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ได้ติดตามสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชาวสามจังหวัดคนหนึ่ง ที่ถูกบุกตรวจค้นถึงหอพักย่านรามคำแหงนั่นแหละ เขาก็ถูกกระทำเชิง “บังคับ” ให้ตรวจเก็บดีเอ็นเอ เช่นกัน จนถึงวันนี้เขาก็ยังอดเป็นกังวล ไม่ได้ว่า ดีเอ็นเอ ดังกล่าวของเขาจะไปโผล่อยู่บน “วัตถุพยาน” ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดสักเรื่องหนึ่งหรือไม่ในวันหน้า! เรื่องดีเอ็นเอนี้ มีข้อมูลบอกว่า ในการตรวจจับผู้ต้องหาครั้งหนึ่งที่ปัตตานี ทั้งครอบครัวถูกจับตรวจดีเอ็นเอ. หมด รวมถึงลูกคนเล็กวัย 5 ขวบด้วย! ช่างทำงานกันได้ละเอียดยิบแท้เทียวหนอ! ก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ขั้นผู้น้อยในพื้นที่ๆต้องทำงานตามเจ้านายสั่ง หรือทำตามความเข้าใจผิดของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องบอกว่า ด้วยปรากฏการณ์และพฤติกรรมการ “ผูกปัญหา” ทบซ้อนขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้เอง การแก้ปัญหาที่ตามมาจึงยากเย็นแสนเข็ญ ทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนในการแก้ที่มาจากภาษีของคนในชาติทั้งชาติอีกมากมายมหาศาลเสียเหลือเกิน! กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เฉพาะปมปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นปกครองไทยในอดีตสร้างไว้ก็มากมายเหลือพอแล้ว นายกฯลุงตู่เอ๋ย ถึงยุครัฐบาลเลือกตั้งแล้ว ฝากชื่อฝากเสียง ฝากความจริงใจให้ชาว 3 จังหวัดเขาบันทึกไว้สักเรื่องเถอะ ว่าเรื่องของพวกเขา แผ่นดินของพวกเขา ปัญหาของพวกเขา ได้รับการแก้ไขพัฒนาจนสำเร็จได้อย่างแท้จริงด้วยฝีมือของนายกฯที่ชื่อ “ลุงตู่” เหมือนอย่างที่ท่านรัฐบุรุษ นายกฯเปรม ฝากชื่อไว้ในเรื่องกฎหมาย 66/23 นั่นไง! อย่าให้พวกเขาต้องจดจำเป็นตำนานเหมือนเมื่อครั้งใครก็ไม่รู้ (ในประวัติศาสตร์ไทย) ที่มารบยึดเมืองปัตตานีได้ แล้วจับชาวเมืองที่นั่นไปเป็นเชลย โดย (เขาเล่ากันมาอย่างนี้ที่เมืองนั้น) ใช้วิธี “เจาะเอ็นร้อยหวาย” ผูกโยงเชลยดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันการหลบหนี ก่อนจะกวาดต้อนลงเรือนำกลับไปเมืองบางกอกอีกเลย...!!!