การประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2562 อนุมัติให้ตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากในรัฐบาลชุดนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจไม่ได้เป็นประธานหรือหัวหน้าทีมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แต่ผู้ที่นั่งกุมบังเหียนเก้าอี้ประธานครม.เศรษฐกิจ กลับเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งภายในทีมเศรษฐกิจ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ จากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคประชาธิปัตย์และจากพรรคภูมิใจไทยด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จึงจำเป็นต้องสวมหมวกอีกใบ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งเมื่อเข้าไปดูแผนงานของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแล้วก็พบว่า มีบางส่วนที่เดินคนละทางกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์1
ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมตัวในการเข้ามากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นเวลานานเกือบเท่าอายุของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีการเตรียมองค์ความรู้ต่างๆ สั่งสมมาพอสมควร เมื่อมีโอกาสในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จึงปักธงที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เพื่อหวังแก้ไขปัญหาปากท้อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนเติมเต็มรายได้ให้กับเกษตรกร 4 แนวทางด้วสย แนวทางแรก
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก คือจะใช้นโยบายประกันรายได้ ผลิตผลเกษตร 5 ตัวคือข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ส่วนพืชชนิดอื่นนั้นให้ใช้มาตรการที่มีความยืดหยุ่นแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรสามารถยังชีพได้
แนวทางที่สอง ต้องเข้าไปดูแลควบคุมราคาสินค้า หรือการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องค่าของชีพประชาชนรวมทั้งเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
แนวทางที่สาม เร่งรัดการส่งออก ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าขณะนี้ทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบหมดโดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่มีประเทศไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบแม้แต่ตัวสหรัฐและจีนเองโดยจะตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ขึ้นเพื่อให้เป็นเวทีที่จะทำให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเจรจากันสนับสนุนส่งเสริมกัน กำหนดนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 นี้เราจะประชุมนัดแรก 9.00 น.ที่ กระทรวงพาณิชย์
แนวทางที่ 4 การเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ค้างท่ออยู่ หรือยังเดินต่อไม่ได้ จะมีการเร่งรัดการเจรจายกตัวอย่างสำคัญที่สุดคือกลุ่มประเทศอาร์เซ็ป (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศบวกกับประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) และเร่งฟื้นเอฟทีเอยุโรปเดินหน้าต่อไม่ได้ใน5-6 ปีที่ผ่านมา เพราะติดปัญหาเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตามเราคาดหวังว่า แนวทางของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสามารถนำเติมรายได้เข้าสู่กระเป๋าเกษตรตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้